กลับหน้าแรก | กระดานข่าวสีเขียว - สีคราม
ค้นหาคำถาม
:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง :: :: ทริปเดินทาง ::: พาใจไปเที่ยว :: :: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง ::
เชิญตั้งคำถามของคุณได้ที่นี่ครับ
เมื่อผีตาโขนเมืองด่านซ้าย กลายเป็นสินค้าการท่องเที่ยว
8 สิงหาคม 2548 16:01 น.
ภัทราวุธ บุญประเสริฐ / สำนักข่าวประชาธรรม

ในบรรดาการละเล่นในงานบุญประเพณีต่างๆ ถือได้ว่าการละเล่นผีตาโขนอำเภอด่านซ้ายมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศเลยทีเดียว เพราะความแปลกประหลาด สีสันงดงามของเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ประกอบการละเล่น ดึงดูดความสนใจให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 30,000 คน

ทั้งนี้การละเล่นผีตาโขนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานบุญหลวงซึ่งถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่น โดยนำเอางานบุญพระเวส(ฮีตเดือน 4) และงานบุญบั้งไฟ(ฮีตเดือนหก)เข้าไว้เป็นงานเดียวกัน สืบทอดกันมาเป็นเวลานานกว่า 300 ปีแล้ว ในปีนี้เจ้าพ่อกวน (ผู้นำทางจิตวิญญาณฝ่ายชายของชาวอำเภอด่านซ้าย) ได้เข้าทรงนั่งทางใน กำหนดจัดงานขึ้นในระหว่างวันที่ 8-11 กรกฎาคม 2548

ขั้นตอนของงานเริ่มจาก ช่วงเช้าตรู่วันแรกมีการทำพิธีเบิกพระอุปคุต(ก้อนกรวดสีขาว) ขึ้นจากแม่น้ำหมัน เพื่ออันเชิญไปปราบมารที่จะเข้ามารังควานระหว่างงานบุญ หลังจากนั้นคณะผู้ทรงศีลก็นำพระอุปคุตใส่หาบเคลื่อนขบวนกลับมาทำพิธีที่หออุปคุตวัดโพนชัย

ต่อจากนั้นชาวด่านซ้ายได้จัดขบวนแห่ไปยังบ้านเจ้าพ่อกวน เพื่อทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม (ผู้นำทางจิตวิญญาณฝ่ายหญิง) หลังจากนั้นก็พากันแห่ขบวนเซิ้งไปยังวัดโพนชัย พร้อมกับการออกมาวาดลวดลายของกลุ่มผีตาโขนน้อยใหญ่

วันที่สองของงาน บรรดาผีตาโขนเริ่มทยอยออกมาเต้นรำตามจังหวะดนตรี โดยมีปลัดขิกสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และคู่มือล่อมาร เที่ยวเดินหยอกล้อหลอกหลอนผู้คนไปทั่วเมือง หลังจากนั้นมีพิธีอันเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมืองไปที่วัดโพนชัย

วันสุดท้ายของงานตั้งแต่ช่วงเช้ามืด มีการฟังเทศน์มหาชาติเพื่อกล่อมเกลาจิตใจและได้อานิสงส์แรงกล้า เป็นอันเสร็จสิ้นงาน

ทั้งนี้ เมื่อปี 2525 ททท.และนิตยสาร อสท.เริ่มเข้ามาไล่จับผีตาโขนไปลงหม้อโปรแกรมท่องเที่ยว ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่บวกและลบขึ้นกับการละเล่นอันเก่าแก่ของชาวด่านซ้ายนี้อย่างน่าใจหาย

ประพนธ์ พลอยพุ่ม หรือ 'ลุงเขียวไขข่าว' ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย ซึ่งเป็นหนึ่งในนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ชาวจังหวัดเลยให้การยอมรับมากที่สุด ได้ตั้งข้อสังเกตและท้วงติงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า การละเล่นผีตาโขนถือว่าเป็นประเพณีดั้งเดิมที่ชาวด่านซ้ายสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 300 ปี ซึ่งเชื่อกันว่าผีตาโขนเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า 'ผีตามคน'

โดยในสมัยก่อนพุทธกาล พระเวสสันดร (ปางก่อนของพระพุทธเจ้า) ถูกชาวเมืองสีวิราษฎร์ขับไล่เข้าอยู่ในป่ากับพระนางมัทรีที่บวชเป็นดาบสอยู่ในเขาวงกต โดยมีบรรดาภูตผี ปีศาจ คนป่า และสรรพสัตว์ทั้งหลายคอยปรนนิบัติรับใช้

ภายหลังชาวเมืองทูลเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับเข้าเมือง พวกที่เคยปรนนิบัติรับใช้ก็ได้แห่ตามมาส่ง ซึ่งประเพณีบุญหลวงของชาวด่านซ้ายจะกำหนดให้วัดโพนชัยเป็นเมือง

เมื่อมาถึงเมืองก็มีการเฉลิมฉลอง บรรดาภูตผีที่ตามมาอยากร่วมงานบ้าง จึงไปขโมยเอาเศษผ้าจีวรหรือผ้าขี้ริ้วและหวดนึ่งข้าวมาแต่งกาย อำพรางตัวอย่างมิดชิด

งานประเพณีบุญหลวงของชาวด่านซ้ายจึงเป็นการจำลองตำนานดังกล่าว โดยตั้งแต่อดีตมานั้นพองานบุญฯจบลง คนเล่นผีตาโขนต้องนำเอาเศษเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายไปโยนทิ้งแม่น้ำหมัน เพราะถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเสนียดจัญไร ขณะเดียวกันก็เป็นการลอยเคราะห์ลอยโศกให้ไหลไปกับน้ำด้วย

แต่ช่วงหลังมานี้ เครื่องแต่งกายและหน้ากากผีตาโขนจะถูกตบแต่งอย่างพิถีพิถันมีสีสันสวยสดมากขึ้น เพื่ออวดนักท่องเที่ยว เมื่อเล่นเสร็จก็เลิกโยนทิ้งน้ำ ส่วนใหญ่จะเก็บไว้ขายเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวที่เสนอราคาให้อย่างงาม

ลุงเขียวติงต่อไปว่า นอกจากนี้ปลัดขิกที่เป็นอุปกรณ์คู่มือผีตาโขนซึ่งเชื่อกันว่าเอาไว้ดึงความสนใจให้พวกมารไม่ตามไปรังควานงานบุญฯ ขณะเดียวกันปลัดขิกยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และการก่อกำเนิดของมนุษย์ด้วย ได้ถูกนายอำเภอที่ย้ายเข้ามารับหน้าที่ในช่วงหลังนี้ สั่งห้ามเล่นโดยอ้างเหตุผลว่า มีนักท่องเที่ยวสุภาพสตรีบางรายทนไม่ได้กับการถูกผีตาโขนเอาปลัดขิกมาหยอกล้อ เข้ามาร้องเรียน

และที่น่าจะเรียกว่าเลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ เจ้าหน้าที่ของ ททท.เข้าไปขอร้องให้เจ้าพ่อกวนเข้าทรงนั่งทางในกำหนดวันจัดงานประเพณีบุญหลวงก่อนล่วงหน้า 1 ปี เพื่อจะเป็นผลดีต่อการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับรู้แต่เนิ่นๆ ในขณะที่ปกติแล้ว เจ้าพ่อกวนจะกำหนดวันงานได้ไม่เกิน 1 เดือนเท่านั้น

ประเพณีงานบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนปี 2548 จบลงพร้อมกับการจับตามองด้วยความวิตกกังวลจากหลายฝ่าย ซึ่งการแสดงออกเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกเหตุว่าประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาลกำลังเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนบางกลุ่ม

ดังนั้น วิธีการหนึ่งที่จะช่วยชะลอให้ประเพณีงานบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนไม่ถูกทำลายไปมากกว่านี้ นักท่องเที่ยวควรศึกษาทำความเข้าใจถึงความเป็นมาเสียก่อน เพื่อความง่ายต่อการปรับตัวเข้ากับสิ่งเป็นอยู่ ไม่ใช่ให้สิ่งที่เป็นอยู่ปรับเข้าหาตัวเอง


ภัทราวุธ บุญประเสริฐ
โดยคุณ คนคุ้นเคย [2005-08-09 17:40:19] Bookmark and Share

โดยคุณ debby [2005-08-10 11:31:16] #9431 (1/3)
ขอบคุณที่เอามาให้อ่านครับพี่ ….

เรื่องนี้ผมว่านานาจิตตังนะ ขึ้นอยู่กับว่าเรามองในด้านไหน
ถ้ามองในมุมของลุงเขียว มันก็ถูกต้อง
หรือถ้าจะมองในมุมของ ททท. มันก็ถูกต้องอีก
ในส่วนตัวผม ผมว่ามันน่าจะเป็นการดีนะ ที่จะได้มีการโปรโมท เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะๆ
อย่างน้อยก็เพื่อความเป็นอยู่และรายได้ของประชาชนในอ.ด่านซ้าย
ถึงแม้ว่าจะมีแค่ปีละวันเดียวก็เถอะ แต่ยังไงก็ตาม …. งานผีตาโขนก็ทำให้หลายๆคนรู้จักอำเภอด่านซ้ายมากขึ้นแน่นอน
ผมว่ามันก็ไม่เชิงเป็นการนำเอาประเพณีที่ดีงามมาใช้ในทางพาณิชย์นะ แต่ผมคิดว่ามันเป็นการนำเอาจุดเด่นมาขายมากกว่า
คือตัวงานบุญพระเวสจริงๆแล้ว นักท่องเที่ยวอาจจะไม่ค่อยสนใจเท่าไรนัก แต่จะมุ่งไปให้ความสำคัญกับ”ผีตาโขน”กันซะมากกว่า
และในเมื่อการละเล่นผีตาโขน มีจุดเด่นจุดดีอยู่ในตัว … ทำไมเราจะไม่สนับสนุนและส่งเสริมกันล่ะ?
แต่ยังไงก็ตาม … อย่าให้ความรู้สึกในเชิงพาณิชย์เข้าไปครอบงำประเพณีที่ดีงามมากเกินไปนัก …

พบกันคนละครึ่งทางดีที่สุดครับ
โดยคุณ นายซาไกทัดดอกฝิ่น [2005-08-10 12:55:14] #9434 (2/3)
แจ่มๆ
โดยคุณ Ducky [2005-08-10 17:05:55] #9437 (3/3)
ไม่รู้ว่าจะพูดยังไงคะ แต่ความคิดของเป็ดอยากรักษาวัฒนธรรมไว้ คนไปเที่ยวก็ควรจะศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นก่อนไป ขนาดเป็ดยังชอบวัฒนธรรมของลาวเลยคะ มันยังบริสุทธิ์ใสสะอาดอยู่เลยคะ
อะไรบางอย่างที่มีรายได้เข้าไปเกี่ยวข้องมันทำให้คนเกิดความขัดแย้งกันลึกๆ อยู่ในใจ กิเลสก็จะเข้ามาในใจโดยที่เราไม่รู้ตัว สิ่งดีงามไม่ต้องโปรโมทมากหลอกคะ มันบอกปากต่อปาก อาจจะช้าหน่อยแต่เราก็จะรู้กันในไม่ช้า ใช่อะเปล่าคะ