|
|
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา จังหวัดศรีสะเกษ
ประวัติความเป็นมา
จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีหนังสือถึงกรมป่าไม้ ขอให้จัดตั้งพื้นที่ป่าห้วยศาลา จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อเป็นการคุ้มครองป้องกันป่าไม้และสัตว์ป่า โดยเฉพาะกูปรี หรือโคไพรซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนหายากและใกล้สูญพันธุ์ กรมป่าไม้ได้กำหนดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลาโดยมพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2533 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 107 ตอนที่ 259 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2533 มีเนื้อที่ประมาณ 380 ตารางกิโลเมตร หรือ 237,500 ไร่ และมีพื้นที่เตรียมการผนวกเพิ่มอีกประมาณ 30,000 ไร่
สถานที่ตั้งและอาณาเขต
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษ ครอบคลุมพื้นที่ ตำบลห้วยจันทร์ และตำบลกันทรอมของอำเภอขุนหาญ ตำบลโคกตาล และตำบลห้วยตามอญ ของอำเภอขุขันธ์
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ จรดถนน ร.พ.ช. สายโคกตาล - ไพรพัฒนา และที่ดินทำกินของราษฎร 6 ตำบล 3 อำเภอ ได้แก่ ตำบลไพรพัฒนา ตำบลดงรัก อำเภอภูสิงห์ ตำบลกันทรอม ตำบลห้วยจันทร์ อำเภอขุนหาญ และตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ทิศใต้ จรดแนวเขตป่าประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย
ทิศตะวันตก จรดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ตำบลห้วยจันทร์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
ทิศตะวันออก จรดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน - ห้วยสำราญ ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์
ลักษณะภูมิประเทศ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ทอดแนวยาวตลอดชายแดนไทย - กัมพูชา ในแนวตะวันตกลาดมาทางทิศเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ประเทศไทย ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 200 - 600 เมตร สภาพภูเขามีสันเขาเตี้ยราบ หน้าดินตื้น บางส่วนเป็นลานหิน ความลาดชันต่ำ ส่วนที่เป็นความลาดชันสูงจะเป็นหน้าผาหิน และร่องห้วย เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ
ลักษณะภูมิอากาศ
อุณหภูมิเฉลี่ย จะสูงสุดอยู่ราวเดือนเมษายน ถึง เดือนพฤษภาคม ประมาณ 32.5 องศาเซลเซียส และต่ำสุดราวเดือนธันวาคม ถึง เดือนมกราคม ประมาณ 22.3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 27.1 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน ค่าเฉลี่ยสูงสุดในเดือนกันยายน และต่ำสุดเดือน มกราคม
ทรัพยากรป่าไม้ (ชนิดป่าและพรรณไม้)
สภาพทั่วไปของสังคมป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา อาจแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. ป่าดิบ [Evergreen Forest] เนื่องจากอิทธิพลของสภาพภูมิประเทศ ซึ่งเป็นภูเขาสูง และปริมาณน้ำฝนที่ตกชุก จึงทำให้สภาพป่าส่วนใหญ่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลาเป็นป่าดิบทั้งป่าดิบชื้น ป่าสนเขา และป่าดิบแล้ง พรรณไม้ที่มีลักษณะเด่นและสำคัญทางเศรษฐกิจที่พบ ได้แก่ พยุง ชิงชัน ตะเคียนทอง ยางนา พะยอม มะค่าแต้ และเขล็ง เป็นต้น
2. ป่าเบญจพรรณ [Mixed Deciduous Forest] จะพบในบริเวณที่ราบ ซึ่งมีพื้นที่ไม่มากนัก ซึ่งในบริเวณดังกล่าวมีบางส่วนที่เป็นที่ราบหินโผล่ หรือผลาญหิน จะมีทุ่งหญ้าปกคลุม ชนิดไม้ที่พบมีขนาดค่อนข้างใหญ่ขึ้นกระจายอยู่ห่างกัน โดยมีไม้เด่น คือ ประดู่ แดง ตะแบก กระบาก มะค่าโมง กระบก และมะกอกเลื่อม เป็นต้น
ทรัพยากรสัตว์ป่า
สัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา มีการอพยพหากินไปตามแนวชายแดนไทยและกัมพูชา เนื่องจากเป็นผืนป่าที่ติดกัน จากการสำรวจเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา พบชนิดสัตว์ป่า จำแนกตามกลุ่มได้เป็น นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ปลา และแมลง
แหล่งความงามตามธรรมชาติ
- ประเภทน้ำตก ได้แก่ น้ำตกซำไทร ตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าจองกอ น้ำตกนาตราว ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ บ้านนาตราว
- ประเภทเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำห้วยศาลา ตั้งอยู่บริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบไปด้วยเทือกเขา และป่าไม้ มีทิวทัศน์ที่สวยงามและเงียบสงบ เหมาะแก่การท่องเที่ยว
เส้นทางคมนาคม
1. ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ การเดินทาง โดยอาศัยทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรี เข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา และเมื่อใกล้ถึงอำเภอสีคิ้วสามารถจะเลือกเส้นทางหลักๆ เข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษได้ 2 เส้นทาง
- เส้นทางแรก เลือกใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 ผ่านอำเภอโชคชัย - อำเภอหนองบุนนาค - อำเภอหนองกี่ - อำเภอนางรอง - อำเภอประโคนชัย - อำเภอปราสาท แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 220 ผ่านอำเภอขุขันธ์ เข้าตัวเมืองศรีสะเกษ
- เส้นทางที่สอง จะเป็นเส้นทางที่รถประจำทางวิ่งระหว่าง กรุงเทพ - อุบลราชธานี ซึ่งจะใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 ผ่านอำเภอห้วยแถลง อำเภอจักราช - อำเภอลำปลายมาศ เข้าสู่จังหวัดบุรีรัมย์ จากนั้นเข้าสู่กิ่งอำเภอห้วยราช - อำเภอกระสัง จังหวัดสุรินทร์ ไป อำเภอศรีขรภูมิ - อำเภอสำโรงทาบ - อำเภอห้วยทับทัน - อำเภออุทุมพรพิสัย เข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดศรีสะเกษ
สำหรับบริการรถโดยสารประจำทาง (บขส.) มีทั้งธรรมดาและปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ตลาดหมอชิต) ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง
นอกจากนั้นยังมีรถโดยสาร จากอำเภอเมืองศรีสะเกษไปยังอำเภอต่างๆ ทุกอำเภอและทุกจังหวัดใกล้เคียง การเดินทางในตัวเมืองมีรถสามล้อรับจ้างอยู่ทั่วไป
- ทางรถไฟ จากสถานีกรุงเทพ ฯ (หัวลำโพง) มีรถธรรมดา รถเร็ว และรถด่วน สายกรุงเทพ - อุบลราชธานี วันละ 6 รอบ ลงที่สถานีศรีสะเกษ
- ทางเครื่องบิน หากประสงค์จะเดินทางโดยเครื่องบิน สามารถไปได้ โดยลงที่สนามบินจังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นต่อรถเข้าจังหวัดศรีสะเกษอีกประมาณ 60 กิโลเมตร
การเดินทางเข้าสู่ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลาเป็นไปได้โดยสะดวก โดยทางรถยนต์ จากจังหวัดศรีสะเกษไปตามถนนขุขันธ์ ถึงอำเภอขุขันธ์ ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร จากอำเภอขุขันธ์ ผ่านสี่แยกเดชอุดม - นครราชสีมา เข้าสู่บ้านโคกตาล บ้านศาลา บ้านนาตราว ถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยศาลา ก่อนข้ามสะพานไปบ้านจำปานวง ระยะทางอีก 24 กิโลเมตร รวมระยะทางจากจังหวัดศรีสะเกษถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา ประมาณ 84 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ และเบอร์โทรศัพท์
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา ตำบลดงรัก กิ่งอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ 33140
โทรศัพท์ (043) 223174
|
|
|
|
|
|