|
|
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จังหวัดลพบุรี
ประวัติความเป็นมา
เดิมเป็นเนื้อที่ป่าตอนบนของป่าสงวนแห่งชาติป่าซับลังกา ซึ่งประกาศเป็นป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. 2502 ต่อมาในปี 2527-2528 จังหวัดลพบุรีร่วมกับกรมป่าไม้เห็นควรอนุรักษ์ป่าผืนนี้ซึ่งเป็นป่าแหล่งสุดท้ายของจังหวัด และเป็นต้นน้ำลำสนธิไว้ในรูปของป่าถาวร โดยอพยพราษฎรที่บุกรุกเข้าไปอยู่ก่อนออกมาอยู่ในที่จัดให้ไว้ในรูปโครงการหมู่บ้านป่าไม้ซับลังกา ซึ่งอยู่ใต้หมู่บ้านวังเชื่อม ส่วนที่อยู่เหนือห้วยวังเชื่อมขึ้นไปได้ดำเนินการจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา พร้อมกับทำการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำในพื้นที่ที่เป็นป่าเสื่อมโทรม และได้ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อปี 2529 เนื้อที่ประมาณ 96,875 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
ประกอบด้วยเทือกเขายาวจากเหนือมาใต้ขนาบไว้สองข้าง ตรงกลางเป็นที่ราบแคบโดยมีลำสนธิไหลผ่ากลางจากเหนือไปใต้ขนานกับเทือกเขาทั้งสอง เทือกเขาทางทิศตะวันออก คือ เขาพังเหย ซึ่งเป็นแนวเขตติดต่อกับจังหวัดชัยภูมิ และเทือกเขาฝั่งทางด้านชัยภูมินั้นเปลี่ยนสภาพเป็นที่ราบสูงอีสาน ส่วนเทือกเขาทางตะวันตกนั้นประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนเป็นแนวเขตอยู่ติดกับอำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เขาที่สำคัญคือ เขาลวด ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่หลับภัยของสัตว์ป่าเป็นอย่างดี เทือกเขาทั้งสองห่างกันเพียง 5-6 กม. เหมาะที่จะกั้นเป็นซาฟารีหรือสวนสัตว์เปิดขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า 40,000 ไร่
ลักษณะภูมิอากาศ
ฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฝนตกชุกพอประมาณ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 1,100-1,200 มม. อากาศหนาวในฤดูหนาว ลมพัดแรงจัดเกือบตลอดเวลา เพราะอยู่ในที่ราบที่ขนาบด้วยเทือกเขาสองข้างทาง ตอนบนจะหนาวกว่าเพราะเป็นที่ราบสูง ฤดูร้อนอากาศร้อนจัด พื้นที่ตอนล่างเกิดไฟป่าบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นป่าเบญจพรรณมีทุ่งหญ้าสลับกับป่าไผ่รวก
ชนิดป่าและพรรณไม้
บนเทือกเขาพังเหยเป็นป่าเต็งรังกับป่าเบญจพรรณ นอกจากไม้เต็งรังแล้วมีประดู่ มะค่า แดง และไม้ไผ่รวกขึ้นอยู่ทั่วไป ระดับความสูงปานกลางประมาณ 800 เมตร และตีนเขาเป็นป่าเบญจพรรณกับป่าดงดิบ โดยเฉพาะที่ราบริมห้วยจะเป็นป่าดงดิบ ไม้ที่มีค่ามีพวก ประดู่ มะค่า แดง ตะแบก สมพง และไม้ยาง ไม้พื้นล่างมีไม้ไผ่ป่า หวาย บอน และพวกว่านต่าง ๆ เทือกเขาทางตะวันตกติดกับจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณพบอยู่ตอนบนที่สูงกว่า ไม้ที่สำคัญ ๆ นอกจากที่กล่าวแล้วมีพวกไม้ยาง และตะแบก และมะค่าโมง ขึ้นอยู่มาก นอกจากนี้ตอนที่ราบระหว่างสองเทือกเขาตอนบนยังมีป่ายางเหลืออยู่ พบต้นยางขนาดใหญ่เหลืออยู่มากพอสมควร ทางตอนล่างของเขตฯ เป็นทุ่งหญ้าที่เกิดจากการบุกรุกแผ้วถางป่าของชาวบ้านแต่เดิม
สัตว์ป่า
สัตว์ป่าสงวน ที่พบคือ เลียงผา
สัตว์ป่าคุ้มครองที่พบได้แก่มี พญากระรอก ลิง ลิงลม บ่าง เสือไฟ เม่น อีเห็น นกกระทาดง นกกระรางหัวขวาน นกกะลิง นกเขาเขียว นกตะขาบ นกกะปูด นกบั้งรอก เก้ง กระจง ไก่ป่า หมูป่า งูจงอาง อึ่ง กบ ปลาตระกูลปลาตะเพียน พบมีอยู่ในลำห้วยทั่วไป
จุดที่น่าสนใจ
น้ำตกสามสาย อยู่ทางตอนเหนือต้นน้ำลำสนธิ เป็นลำสนธิที่หายไปในดินแล้วโผล่ออกมาอีกทางด้านหนึ่งของซอกเขา
น้ำตกผาผึ้ง อยู่ทางด้านเขาลวก ความสูงระดับเขาที่ไต่ขึ้นไปปานกลาง เป็นน้ำตกขนาดเล็ก อยู่ห่างจากสำนักงานประมาณ 10 กิโลเมตร บนน้ำตกจะเป็นถ้ำและเทือกเขาจันทน์ผา สวยงาม
มีถ้ำต่างๆมากมายเหมาะแก่การปีนป่าย นอกจากนี้ ตามแนวเทือกเขาพังเหยตอนบน ๆ จะพบก้อนหินขนาดใหญ่ ๆ กองอยู่เป็นกลุ่ม มีอยู่ทั่วไป และในเดือนกรกฎาคม จะพบดอกกระเจียว เป็นทุ่งออกดอกบานสะพรั่นบนยอดเทือกเขาพังเหย และป่าละเมาะทั่วไป
สิ่งอำนวยความสะดวก
ไม่มีความสะดวกมากนัก เพราะเน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ช่วยเหลือตนเอง นอนเต๊นท์เป็นหลัก มีอาคาร ศาลา และห้องสุขา อำนวยความสะดวกพอสมควร กิจกรรมที่น่าสนใจ กระจายในรอบปีคือ " เดินป่า ปีนเขา เข้าถ้ำ ย่ำน้ำตก ล่องแพ แลดอกกระเจียว เที่ยวสุดแผ่นดิน ปีนหินงาม "
การเดินทาง
มีทางรถยนต์จากอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ถึงสำนักงานใช้ได้ตลอดฤดูกาล ระยะทางประมาณ 37 กิโลเมตร เป็นถนนลูกรังอัดแน่น ชั้น 1
1. บขส.หมอชิต2 - บขส.ลำนารายณ์ นั่งรถปรับอากาศชั้น 1 หรือ 2 หรือรถ ธรรมดา สายกทม. - หล่มสัก ซื้อตั๋วลงลำนารายณ์ ระยะทางประมาณ 197 กิโลเมตร หรือสายกทม.-ชัยภูมิ ผ่านลำนารายณ์ลงที่ตลาดหนองรี อำเภอลำสนธิ
2. บขส.ลำนารายณ์ - สี่แยกไฟแดงตลาดลำนารายณ์ หรือที่จอดรถสองแถว สายลำนารายณ์-บ้านวังเชื่อม มีสามล้มเครื่องจอดรถที่ บขส.
3. นั่งรถสองแถวสายลำนารายณ์-บ้านวังเชื่อม ผ่านตลาดหนองรี อำเภอลำสนธิ ไปสำนักงานเขตฯ ซับลังกา ระยะทางประมราณ 76 กิโลเมตร
การติดต่อ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี 15190
|
|
|
|
|
|