|
|
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา
จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประวัติความเป็นมา
กรมป่าไม้ได้เข้าไปดำเนินการจัดป่าลุ่มน้ำยวม (มร.10) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจเบื้องต้นเพื่อหาความเหมาะสม ในการจัดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ในการดำเนินการในครั้งแรกต้องประสบปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เนื่องจากพื้นที่ที่ใช้ในการสำรวจเพื่อการจัดตั้งนั้น เป็นพื้นที่โครงการป่าสัมปทาน ไม้สักและไม้กระยาเลยที่ยังไม่สิ้นสุดโครงการของผู้รับสัมปทาน คือ องค์การสงเคราะห์ทหาร ผ่านศึก ดังนั้นกรมป่าไม้จึงได้ทำการประชุมผู้เกี่ยวข้องและทำความตกลงกับผู้รับสัมปทาน โดยมีมติให้ดำเนินการทำไม้ออกจากพื้นที่ที่จะดำเนินการจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2522 - 31 พฤษภาคม 2524 หลังจากการทำไม้ ดังกล่าวเสร็จสิ้นลงเรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไปไม่ได้รับความสนใจ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีได้ประชุมแล้วมีมติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2528 โดยมีมติให้ระงับการทำไม้ทุกชนิดบริเวณป่าแม่ยวมฝั่งขวา(มร.10) ตอนที่ 2 แปลงที่ 6 ตอนที่ 3 แปลงที่ 7-8-9 และให้กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยด่วน ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2529 จึงได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ป่าแม่ยวมฝั่งขวาเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมาย
ลักษณะภูมิประเทศ
ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนและสูงชัน มียอดเขาที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเกินกว่าพันเมตรหลายลูก ยอดเขาที่สูงที่สุดมีความสูง 1,198 เมตร ชื่อดอยซ่อเข่เดะหรือ ดอยหลวง ยอดเขาสูงเหล่านี้อยู่เป็นทิวต่อเนื่องกับทิวเขาสูงในเขตประเทศเมียนมาร์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่หายากหลายชนิด และเป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำห้วยน้อยใหญ่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำยวม เช่น ลำห้วยแม่สุ ลำห้วยโป่งเลา ลำห้วยแม่สำเพ็ง ลำห้วยแม่ละมอง ลำห้วยแม่ลางิ้ว ลำห้วยแม่กูป๊ะ ฯลฯ อำนวยประโยชน์ให้แก่ราษฎรในท้องที่อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย เป็นอย่างมาก
ลักษณะภูมิอากาศ
พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวาอยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศไทยห่างไกลจากทะเลเป็นอันมาก เทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน ทำให้ลักษณะภูมิอากาศมีความปรวนแปรมาก คือ ในฤดูฝนฝนตกชุก ในฤดูหนาว อากาศจะหนาวเย็นมาก ในฤดูร้อน อากาศจะร้อนอบอ้าวมาก
จากข้อมูลภูมิอากาศของสถานีตรวจอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา อำเภอแม่สะเรียง พ.ศ.2528 อุณหภูมิสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 40.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 7.5 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนสูงสุดในเดือนมิถุนายน 239.6 มม. ฝนจะตกตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม เดือนที่ไม่มีฝนตก คือ มกราคม-มีนาคม ปริมาณน้ำฝนตลอดปี 2528 จำนวน 1,336.2 มม
ชนิดป่าและพรรณไม้
สภาพป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา มีสภาพป่าเบญจพรรณแทรกกับป่า เต็งรัง ป่าดิบแล้ง ตามลำห้วยต่าง ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปและทุ่งหญ้าตามที่ราบบนเขาและสันเขา มีหมู่บ้านชาวเขา ทั้งลั่วะและกระเหรี่ยง ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามขุนห้วยอยู่ทั่วไป
พรรณไม้ประกอบด้วยพรรณไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจและทางสภาพแวดล้อม ได้แก่ สัก แดง ประดู่ เสลา ตีนนก ตีนเป็ด รกฟ้า ประดู่ส้ม ไทร มะขามป้อม มะม่วงป่า ตะเคียนทอง เต็งรัง พลวง เหียง สมอไทย สมอพิเภก ก่อ มะยมป่า ตะแบก ฯลฯ ไม้พื้นล่างได้แก่ ไผ่ต่าง ๆ หญ้าต่าง ๆ กล้วยไม้ มอส ตะไคร่ เฟิร์นชนิดต่าง ๆ ฯลฯ
สัตว์ป่า
เนื่องจากสภาพป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา มีความสูงชันและมีความทุรกันดารในการเดินทาง ประกอบกับมีลำน้ำยวมเป็นแนวขวางแนวทางธรรมชาติ จึงทำให้ป่าชะลอการถูกทำลายลง เป็นป่าที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์มากอีกแห่งหนึ่ง เป็นที่ที่สัตว์ป่าสามารถแสวงหาแหล่งน้ำ-อาหาร แหล่งที่อยู่อาศัยได้เป็นอิสระและสามารถข้ามไปมาระหว่างชายแดนไทย-พม่า
โดยที่สภาพป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวามีสภาพป่าดีมาก มีพันธุ์ไม้หลายชนิดที่เป็นทั้งแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสัตว์ เหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า หลายชนิด มีพันธุ์ไม้หลายชนิดเป็นอาหารสัตว์ ตลอดจนดินโป่ง ก็มีโป่งใหญ่ ๆ กระจายอยู่ทั่วไป จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่หายาก เช่น วัวแดง กระทิง หมี เก้ง กวาง เลียงผา กวางผา เสือดาว เสือไฟ หมาป่า หมูป่า ลิง ค่าง บ่าง ชะนี นกขุนทอง ไก่ฟ้า ไก่ป่า นกเงือก นกกระทา สัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
จุดเด่นที่น่าสนใจ
ลำน้ำยวม ได้ชื่อว่าเป็นลำน้ำที่สามารถใช้ล่องแพชมความงามตามธรรมชาติตลอดสองฟากฝั่งได้อย่างเพลิดเพลิน โดยสามารถล่องแพจากบ้านแม่สุถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวาใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง ถ้าหากมีเวลามากพอที่จะค้างแรม 1 คืน ก็สามารถที่จะล่องแพจากบ้านแม่กูป๊ะถึงที่ทำการฯ ได้อีกเช่นกัน โดยเฉพาะปลายฤดูฝนต่อต้นฤดูหนาวจะมีความสวยงามมากของสภาพป่าเขา สายหมอกยามเช้าผสมผสานกับแสงแดดอันอบอุ่น ที่ลอยอ้อยอิ่งอยู่เหนือผิวน้ำตลอดสองข้างของลำน้ำที่ผ่านไป สร้างความรู้สึกสดชื่นและความสำนึกในอันที่จะพิทักษ์รักษาธรรมชาติเหล่านี้เป็นยิ่งนัก
โป่งเลา เป็นโป่งอยู่ที่บ้านโป่งเลาทางตอนเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวม ฝั่งขวา มีสภาพป่าและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างชุกชุม จุดชมวิวดอยหลวงหรือดอยซ่อเข่เดะ เป็นจุดที่ท้าทายการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่ชอบการเดินป่าปีนเขา เนื่องจากเส้นทางในการเดินป่าจะเป็นไปด้วยความทุรกันดาร ขึ้นเขาลงห้วยอยู่ตลอดการเดินทาง แต่ในการเดินทางจะแฝงไว้ด้วยความงามของสภาพป่า ความชุกชุมของสัตว์ป่า ตลอดสองข้างทาง เนื่องจากเป็นจุดสูงสุดของยอดเขา อากาศบนเขาจึงเย็นสบายตลอดปี สามารถชมทัศนียภาพได้โดยรอบผสมผสานกับสรรพเสียงสัตว์ป่า นกนานาชนิดได้อย่างเพลิดเพลิน บริเวณเชิงเขามีลำธารน้ำใสไหลเย็นตลอดปี เหมาะกับท่านที่ชอบเดินป่าท้าทายความอดทนและแข็งแรงของร่างกาย จากจุดนี้เราสามารถเดินเท้าไปถึงริมแม่น้ำสาละวิน เพื่อชมธรรมชาติของลำน้ำสาละวินซึ่งเป็นเขตแดนธรรมชาติระหว่างไทยกับเมีย
การเดินทาง
ปัจจุบัน จากกรุงเทพมหานครมีรถประจำทางธรรมดาและรถประจำทางปรับอากาศ ถึงอำเภอแม่ลาน้อย มีทางแยกเข้าบ้านวังคันอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับบ้านวังคัน ระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงที่ทำการฯ ประมาณ 884 กิโลเมตร. หรือจากเชียงใหม่ มีรถประจำทางธรรมดา และรถประจำทางปรับอากาศ ถึงอำเภอแม่ลาน้อย มีทางแยกเข้าบ้านวังคันอีกประมาณ 5 กิโลเมตรจะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวาเช่นกัน ระยะทางจากเชียงใหม่ถึงทำการเขตฯ ประมาณ 227 กิโลเมตร.
สิ่งอำนวยความสะดวก
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา มีบ้านพักรับรอง ณ ที่ทำการเขตฯ 1 หลัง และมี บ้านพักรับรอง ณ หน่วยพิทักษ์ป่าแม่สุ 1 หลัง สามารถรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจได้ประมาณ 20 คน บ้านพักรับรองติดตั้งมุ้งลวด มีเครื่องนอน ประกอบด้วย ที่นอน หมอน ผ้าห่ม มีไฟฟ้า ส่วนน้ำเป็นระบบน้ำที่ต้องสูงน้ำยวมขึ้นมาใช้ ทางด้านอาหารการกิน ท่านจะต้องเตรียมไปเอง ทางเขตฯ มีสถานที่ประกอบอาหารและเครื่องครัวในการปรุงอาหารไว้ให้
การติดต่อ
ท่านที่สนใจที่จะเข้าไปท่องเที่ยวเพื่อศึกษาธรรมชาติของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวม ฝั่งขวาโปรดติดต่อ ฝ่ายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ กทม. โทร.5614292-3 ต่อ 706, 707 หรือติดต่อโดยตรงที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58120
|
|
|
|
|
|