|
|
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประวัติความเป็นมา
ป่าสาละวินได้เคยผ่านการทำไม้มาก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คือ ได้มีบริษัทต่างชาติชื่อบริษัทอิสเอเชียติก เข้ามาทำไม้ระหว่างปี พ.ศ.2450-2452 โดยเสียค่าตอให้กับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ต่อมาสัมปทานการทำไม้ได้ถูกเปลี่ยนมือจากบริษัทอิสเอเชียติกเป็นบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ในระหว่างปี พ.ศ.2453-2476 โดยเสียค่าตอให้กับเจ้านครเชียงใหม่เช่นเดิม ต่อมากรมป่าไม้จัดวางโครงการป่าดังกล่าวนี้ให้เจ้านายฝ่ายเหนือทำไม้ต่อ โดยการแบ่งเป็นสัมปทานที่ 12 ฝั่งแม่สะเกิบและป่าสัมปทานที่ 24 ป่าแม่แงะสาละวิน ซึ่งในที่สุด ออป.ก็ได้รับสัมปทานให้เข้าทำไม้สักตามนโยบายของรัฐที่ให้ ออป.ทำไม้สักและไม้ยางแต่ผู้เดียว การทำไม้ของ ออป.เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2504 เพิ่งจะหมดสัมปทานไปเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2509 หลังจากที่ ออป. เลิกทำไม้ไปแล้วไม่นาน กรมป่าไม้ได้ให้สัมปทานทำไม้กระยาเลยต่ออีกในปี พ.ศ.2516 ได้ให้สัมปทานป่าแม่ยวมฝั่งขวา (มร.10) กับองค์การทหารผ่านศึก และได้ให้สัมปทานป่าสาละวิน ตอนล่าง (มร.12) กับเจ้าวัฒนา โชตนา และเจ้าอาภรณ์ สุวรรณสิงห์ ในปี พ.ศ.2527 กรมป่าไม้ได้ให้สัมปทานป่าสาละวินตอนบน (มร.11) แก่บริษัทแม่ฮ่องสอน ทำไม้ จำกัด อีก ถึงแม้กรมป่าไม้จะให้สัมปทานทำไม้ในป่าอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งปัญหาที่ราษฎรเข้าไปบุกรุกตัดไม้ในป่าได้ กรมป่าไม้จึงได้ออกกฎกระทรวงกำหนดป่าในบริเวณนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติชื่อป่าสาละวิน ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 167 (พ.ศ.2505) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 โดยเหตุที่ป่าสาละวินมีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์มาก ซึ่งภายในป่าสาละวินนี้ได้มีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่อยู่ในแผ่นดินไทยแต่เดิมและชาวกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากประเทศพม่า ได้เข้ามาสร้างถิ่นฐานอยู่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ตามขุนห้วยและบริเวณที่ราบ ซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อย หมู่บ้านละ 5-10 หลังคาเรือน มีการประกอบอาชีพโดยการถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยซึ่งเป็นการทำลายป่าธรรมชาติที่งดงามอันเป็นต้นน้ำลำธารของประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน 2519 กรมป่าไม้ได้รับรายงานจากราษฎรในจังหวัดแม่ฮ่องสอนว่าป่าสาละวินมีสัตว์ป่านานาชนิดชุกชุมเห็นสมควรให้ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจ พบว่าป่าสาละวินมีมีภูมิประเทศที่สวยงาม สภาพป่าสมบูรณ์ประกอบด้วยสัตว์ป่า นานาชนิด สมควรประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้จึงได้รายงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อออกพระราชกฤษฎีกาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในปี พ.ศ. 2521 จึงได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าสาละวิน ในท้องที่ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน มีเนื้อที่ 343,750 ไร่ (550 ตร.กม.)
ในปี พ.ศ. 2524 กรมป่าไม้ได้รับรายงานจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินว่า ป่าสัมปทานแปลงที่ มร.10 ท้องที่ตำบลเสาหิน ซึ่งมีพื้นที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินได้สิ้นสุดสัมปทานการทำไม้ แล้วมีสภาพป่าเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นพื้นที่ต้นน้ำของห้วยแม่แงะ สภาพป่าและแหล่งอาหารสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์ป่าชุกชุม เห็นสมควรผนวกพื้นที่ป่า มร. 10 ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในเดือนสิงหาคม 2526 รัฐบาลจึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาผนวกป่า มร.10 ซึ่งมีพื้นที่ 203,125 ไร่ (325 ตร.กม.) เข้ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมดจำนวน 546,875 ไร่ (875 ตร.กม.)
ลักษณะภูมิประเทศ
ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนประกอบด้วยเทือกเขาที่สำคัญ ๆ คือ ดอยขุน แม่หมอ (908 ม.) ดอยผาตั้ง (858 ม.) ดอยกองสุม (933 ม.) ดอยเกาะแม่หลู่ (1,068 ม.) ดอยขุนกองไหม(1,130 ม.) และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารที่สำคัญหลายสาย เช่น ห้วยแม่แต๊ะหลวง ห้วยแม่แงะ เป็นต้น ซึ่งห้วยทั้งหมดจะไหลลงแม่น้ำสาละวิน สภาพพื้นที่มีที่ราบน้อยมาก บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสาละวินอันเป็นแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินและเป็นพรมแดนธรรมชาติของประเทศไทยและประเทศสหภาพพม่ามีความยาวติดแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินประมาณ 65 กิโลเมตร ลักษณะเป็นโขดหินสลับกับชายหาดทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามมาก
ลักษณะภูมิอากาศ
พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบด้วยเทือกเขามากมาย พื้นที่อยู่ห่างไกลจากฝั่งทะเล ทำให้ลักษณะภูมิอากาศทั้งสามฤดูแปรปรวนค่อนข้างมาก กล่าวคือ ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุก ในฤดูร้อยอากาศค่อนข้างร้อนจัด และในฤดูหนาวอากาศจะหนาวมาก
ชนิดป่าและพรรณไม้
พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินประกอบด้วย ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังป่าดิบแล้ง สภาพป่าดิบแล้งขึ้นแทรกอยู่ตามขุนห้วยต่าง ๆ ทั่วไป รวมทั้งป่าเบญจพรรณกระจายอยู่ทั่วไป มีป่าเต็ง รัง และทุ่งหญ้าตามสันเขาบ้างเป็นแห่ง ๆ ส่วนในที่ภูเขาสูงจะมีป่าสนแทรกอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก พันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สัก แดง ประดู่ ตีนนก รกฟ้า ตะเคียนทอง เต็ง รัง พลวง สมอ ก่อ มะแฟน ฯลฯ ไม้พื้นล่าง ได้แก่ ไผ่ต่าง ๆ หญ้าชนิดต่าง ๆ และเฟิร์น เป็นต้น
สัตว์ป่า
ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินฝนตกชุกมาก สภาพป่าทั่วไปสามารถดูดซับน้ำไว้เป็นอย่างดี ภูมิประเทศเป็นเขาสลับซับซ้อนจึงทำให้มีลำธารหลายสายซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี นับได้ว่าป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์สำหรับสัตว์ป่า และเนื่องจากมีพืชหญ้าหลายชนิด เช่น หญ้าไผ่ หญ้าแฝกหอม ขึ้นสลับตามป่าทั่ว ๆ ไป จึงทำให้สัตว์ป่าประเภทสัตว์กีบ มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้อีกหลายชนิดที่มีผลเป็นอาหารของสัตว์ป่า เช่น ไทร มะขามป้อม สมอ กล้วยป่า มะม่วงป่า มะไฟป่า ฯลฯ จึงนับได้ว่ามีแหล่งอาหารอย่างสมบูรณ์ มีดินโป่งกระจัดกระจายอยู่ทั่งบริเวณป่า โป่งที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ โป่งแม่อุมปะ มีสัตว์ป่านานาชนิดลงกินโป่งที่นี่ สัตว์ป่าที่มีชุกชุมอยู่ในพื้นที่ เช่น เลียงผา กระทิง กวาง เก้ง ลิง ชะนี หมี นกยูง นกขุนทอง ไก่ฟ้าชนิดต่างๆ กบทูด (เขียดแลว) เป็นต้น
จุดเด่นที่น่าสนใจ
โป่งสัตว์ป่า โป่งแม่อุมปะเป็นโป่งที่มีสัตว์ป่านานาชนิดมากินดินโป่งที่นี่ เช่น เก้ง กวาง นกต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งถ้าสนใจจะส่องดูสัตว์ป่าก็สามารถกระทำได้ โป่งแม่อุมปะอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าอมเปไม่ไกลนัก ชมสภาพป่าที่สมบูรณ์ที่สุดของป่าฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ศึกษาความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงที่บ้านโพซอ และไทยใหญ่ที่บ้านแม่เจ บ้านสล่าเชียงตอง ซึ่งยังคงรักษาวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม โดยที่ความเจริญทางด้านวัตถุยังมาไม่ถึง
ฝั่งแม่น้ำสาละวิน มีโขดหิน หาดทรายที่ขาวบริสุทธิ์ และทิวทัศน์ที่สวยงาม เลียบฝั่งแม่น้ำสาละวินตลอดระยะทาง 65 กิโลเมตรที่ไหลผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือชมความสวยงามตามธรรมชาติของแม่น้ำสาละวิน ระหว่างสบแงะถึงบ้านจอท่าและบ้านผาจะพบหาดทรายที่สวยงาม สามารถกางเต็นท์ ตั้งค่ายพักแรมริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ชมความงามของทะเลหมอกที่ปกคลุมแม่น้ำสาละวินในยามเช้า ซึ่งจะพบความงามลักษณะนี้ได้เพียง ที่เดียวในประเทศไทย
สวนหินที่สบแม่แต๊ะหลวง ในฤดูน้ำหลากของทุกปี แม่น้ำสาละวินจะพัดพาเอา ก้อนหินซึ่งถูกกัดเซาะจากภูเขาในประเทศจีนและประเทศพม่าไหลลงมาทับถมกันอยู่บริเวณสบห้วยแม่แต๊ะหลวง จากระยะทางที่ยาวไกลหลายพันกิโลเมตรของแม่น้ำสาละวิน ทำให้หินมีรูปฟอร์มต่าง ๆ หลายแบบงดงามมาก นับว่าเป็นจุดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน สวนหินอยู่ห่างจากค่ายพักแรมสบแงะประมาณ 15 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยทางเรือประมาณครึ่งชั่วโมง
เนื่องจากอำเภอแม่สะเรียงมีฝนตกชุกมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าสาละวินฝนจะเริ่มตกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม ทำให้การคมนาคมเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินทุรกันดารมาก และระดับน้ำในแม่น้ำสาละวินจะเอ่อสูงขึ้น จะมีน้ำหลากและน้ำเชี่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน ระดับน้ำในแม่น้ำที่สูงขึ้นจะท่วมหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำสาละวินทั้งหมด และการเดินทางส่วนใหญ่โดยทางเรือในช่วงนี้จะอันตรายที่สุด ระดับน้ำจะเริ่มลดลงสู่สภาพปกติตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึงเดือนเมษายน ฉะนั้น ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสมและสวยงามที่สุดคือ ระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับในเดือนมีนาคมและเมษายน อากาศจะร้อนและต้นไม้จะผลัดใบ เกิดไฟป่า อากาศปกคลุมไปด้วยหมอกควัน ช่วงนี้ทิวทัศน์จึงไม่สวยงาม
การเดินทาง
ทางรถไฟ โดยโดยสารรถไฟมาลงที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ แล้วเดินทางต่อโดยรถยนต์โดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ถึงอำเภอแม่สะเรียง
ทางเครื่องบิน โดยนั่งเครื่องบินมาลงที่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วเดินทางต่อโดยรถยนต์โดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ถึงอำเภอแม่สะเรียง
ทางรถยนต์โดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) มาลงที่อำเภอ แม่สะเรียง
|
|
|
|
|
|