:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง ::
:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง :: Traveller's WorldWide ::
   เรื่องเล่าคนเดินทาง
   เทคนิคแคมป์
   เรื่องเล่าติดแสตมป์
   นานา..น่าลอง
   ศิลปวัฒนธรรม
   เรื่องเล่าจากราวไพร  
   สมุดเยี่ยม
   มองผ่านเลนส์
   ทริปเดินทาง ปี 53  
   แนะนำตัว
สมัครสมาชิกรับข่าวสาร ฟรี!!





:: ศิลปวัฒนธรรม :: เพื่อส่งเสริมสำนึกรักศิลปวัฒนธรรมไทย ::

:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง :: Traveller's WorldWide ::











เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว
จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติความเป็นมา

ป่าเชียงดาว เป็นป่าเขาสูงชันมาก ในสมัยก่อนชาวบ้านท้องถิ่นไม่กล้าที่จะขึ้นไปเที่ยว เพราะเชื่อกันว่าเป็นป่าที่ลึกสลับซับซ้อน ผู้ที่ขึ้นไปแล้วมักจะกลับลงมาไม่ได้ แต่เดิมป่าเชียงดาวอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าดงดิบ มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ชุกชุมมาก ต่อมาได้มีชาวเขาเผ่าต่าง ๆ โดยเฉพาะเผ่าม้งหรือแม้วขึ้นไปอาศัยอยู่และถางป่าลงเพื่อปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นอันตรายต่อป่าไม้ สัตว์ป่า และสภาพป่า ตลอดถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก กรมป่าไม้จึงได้เข้าดำเนินการจัดการป่าเชียงดาวให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 537 (พ.ศ. 2516) ออกตามความใน พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 แต่กฎกระทรวงฉบับนี้ก็ได้แต่เพียงควบคุมและป้องกันเฉพาะชาวบ้านพื้นเมืองเท่านั้น ส่วนชาวเขาก็ยังถากถางไร่เลื่อนลอยอยู่ทั่วไป ประกอบกับทางกรมป่าไม้ยังได้วางโครงการทำไม้ในรูปแบบป่าสัมปทานทับเข้าไปอีกด้วย โดยให้สัมปทานทำไม้สักแก่ ออป. เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2515 และให้สัมปทานไม้กระยาเลยแก่บริษัท ป่าไม้จังหวัด เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2516 จึงเป็นเหตุทำให้ป่าไม้ในบริเวณป่าเชียงดาวถูกตัดฟันถากถางลงอีกเป็นทวีคูณ การที่จะรักษาสภาพป่าและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงสัตว์ป่าให้คงอยู่ได้ ก็จำเป็นจะต้องดำเนินการจัดการป่าไม้ให้เป็นในรูปแบบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยอาศัยพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 เป็นแม่บทหรือเป็นหลักในการดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อยุติการทำไม้ การแผ้วถางป่าและการลักลอบล่าสัตว์ป่า รวมถึงการทำลายภาวะสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ลงโดยเด็ดขาดและสิ้นเชิง ดังนั้น จึงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการสำรวจข้อมูลเพื่อประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อปี พ.ศ. 2519 และได้จัดส่ง เจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติงานประจำเขตฯ ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. และต่อมาก็ได้ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยลงในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า 19-21 เล่มที่ 95 ตอนที่ 87 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2521 ครอบคลุมพื้นที่ป่าบางส่วนในท้องที่ตำบลเชียงดาว ตำบลแม่นะ ตำบลเมืองคอง ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว และบางส่วนในท้องที่ตำบลเมืองแหง กิ่งอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ รวมเนื้อที่ประมาณ 521 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 325,625 ไร่ มีอาณาเขตโดยรอบดังนี้
ทิศเหนือ จรดถนน ร.พ.ช.สายแม่จา-เวียงแหง
ทิศใต้ จรดลำห้วยแม่นะ และลำห้วยแม่กอกน้อย
ทิศตะวันออก จรดป่าโครงการแม่นะ (ชม.7) และที่ทำกินของราษฎรหมู่บ้านแม่จา บ้านหนองบัว บ้านปากกอง เชิงเขาดอยนาง เชิงเขาดอยหลวง-เชียงดาว บ้านยางทุ่งโป่ง หมู่บ้านถ้ำ และสบห้วยแม่นะ
ทิศตะวันตก จรดลำห้วยแม่แตะ สบห้วยแม่แตะ-ลำน้ำแม่แตง เลียบตามลำน้ำ แม่แตงฝั่งซ้าย (หันหน้าตามน้ำ) จรดที่ทำกินราษฎรหมู่บ้านสันป่าสัก บ้านเหล่า-เมืองคอง บ้านหลวงเมืองคอง บ้านยางห้วยบ้าน บ้านวังมะริว บ้านยางแม่เมิน บ้านยางหนองบัว และ สบห้วยแม่กอกน้อย-ลำน้ำแม่แตง

ลักษณะภูมิประเทศ

ภูมิประเทศของป่าเชียงดาวประกอบไปด้วยป่าเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดดอยหลวงเชียงดาว สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 2,275 เมตร นับว่าเป็นยอดเขาสูงเป็นที่สามของประเทศ (ยอดเขาสูงที่สุดของประเทศคือ ยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่รองลงมาคือ ยอดดอยอ่างขาง อำเภอฝ่าง-อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่) บนยอดดอยหลวงเชียงดาว มักจะมีเมฆหมอกปกคลุมอยู่ตลอดเวลา สถาพทั่ว ๆ ไป ภูเขาเป็นภูเขาหินปูน จึงประกอบไปด้วยหุบเขาและโพรงถ้ำ มีถ้ำใหญ่ที่สวยงาม คือ ถ้ำเชียงดาว เทือกเขาใหญ่ ๆ ที่สำคัญ นอกจากดอยหลวงเชียงดาวแล้ว ก็มียอดดอยนาง ดอยนางแตะ ดอยผาแดง ดอยโป่ง ดอยแม่สันกลาง ดอยกิ่วลม ดอยปี ดอยสันคมพร้า ฯลฯ สภาพป่าบนยอดเขาจะเป็นป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ อันเป็นต้นน้ำลำธาร และลำห้วยที่สำคัญหลายสาย อาทิ ลำห้วยแม่งาย ห้วยละครหรือห้วยแม่ข้อน ห้วยแม่กืด ห้วยแม่ก๊ะ ห้วยแม่นะ ซึ่งมีน้ำไหลหล่อเลี้ยงตลอดปี ไหลลงสู่แม่น้ำปิงทางด้านทิศตะวันออก และมีลำห้วยแม่เหยือง ห้วยฮ่อม ห้วยหญ้าไทร ห้วยบ้านช้าง ห้วยขี้เหล็ก ห้วยแม่หมื่น ลำน้ำแม่คอง ห้วยแม่เมิน และห้วยแม่กอกน้อย ไหลลงสู่ลำน้ำแม่แตง ซึ่งเป็นแควน้ำใหญ่ที่สุดที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิงด้านทิศตะวันตก

ลักษณะภูมิอากาศ

เนื่องจากภูมิประเทศประกอบด้วยเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อนและอยู่ในภาคเหนือ ความสูง ๆ จากระดับน้ำทะเลปานกลางกว่า 2,000 เมตร โดยเฉพาะยอดดอยหลวงเชียงดาวที่มีเมฆหมอกปกคลุมอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้สภาพดินฟ้าอากาศหนาวเย็นลักษณะคล้ายกึ่งเมืองหนาว อากาศโดยทั่ว ๆ ไปจะหนาวเย็นตลอดฤดูหนาวและฤดูฝน มีความชุ่มชื้นมาก ในเวลา กลางวันอากาศจะค่อนข้างร้อน แต่ระยะช่วงกลางคืนจะหนาวเย็นเป็นอย่างมาก

ชนิดป่าและพรรณไม้

ป่าเชียงดาว มีลักษณะที่ประกอบไปด้วยป่าดิบชื้นผสมป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณเขา ป่าสน ป่าเต็งรังเขาสูง ป่าเบญจพรรณต่ำเชิงเขา ไม้พื้นล่างในส่วนที่สูงชันจะเป็นพวกมอส เฟิร์นต่าง ๆ หวาย กล้วยป่า ว่านสมุนไพรหลากหลายชนิด ในส่วนที่ต่ำลงไปประกอบด้วยป่าไผ่ชนิดต่าง ๆ อาทิ ไผ่หก ไผ่ซาง ไผ่หนาม ไผ่บงป่า ไผ่ไร่และไผ่ข้าวหลาม พันธุ์ไม้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สนสองใบ สนสามใบ สัก เต็งรัง เหียงพลวง ชิงชัน ประดู่ แดง เก็ด ไม้ก่อชนิดต่าง ๆ สมอ กะบาก หว้า ตะแบก เสลา ส้าน มะม่วงป่า กระท้อนป่า มะยมป่า มะไฟป่า มะกอกป่า งิ้วป่า และปอชนิดต่าง ๆ

สัตว์ป่า

ด้วยเหตุที่ป่าเชียงดาวมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ประกอบด้วยหุบเขาและโพรงถ้ำมากมาย มีแม่น้ำลำธารใหญ่น้อยทั่วผืนป่าทั้งซีกตะวันตกและซีกตะวันออกของพื้นที่ สภาพป่าแบ่งออกเป็นหลายลักษณะ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไม้ที่มีลูกและเมล็ดเป็นอาหารของสัตว์ป่านานาชนิด รวมถึงสัตว์ป่าที่หายากและใกล้ที่จะสูญพันธุ์ อาทิ กวางผา เลียงผา สัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนมนอกจากกวางผา เลียงผา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่หายากและใกล้จะ สูญพันธุ์แล้ว ยังประกอบด้วย เสือโคร่ง เก้ง กวาง กระจง หมูป่า หมูหริ่ง ลิงชนิดต่าง ๆ ชะนี ลิงลม เสือไฟ เสือลายเมฆ เสือปลา แมวป่า แมวดาว อีเห็นธรรมดา อีเห็นลายเสือ อีเห็นลายเมฆ ชะมดเช็ด ชะมดแผงสันหางดำ หมีควาย หมีขอ หมาไม้ เม่น กระต่ายป่า กระรอกชนิดต่าง ๆ พญากระรอก กระแต บ่าง ค้างคาวหลายชนิด ตุ่น อ้น และหนูต่าง ๆ ฯลฯ ส่วนสัตว์ป่า ประเภทสัตว์ปีกจำพวกนกประกอบด้วย ไก่ฟ้าหลายชนิด ไก่ป่า นกเหยี่ยว นกเงือก นกแกงหรือ นกกาฮัง นกขุนแผน นกบั้งรอก นกโพระดก นกหัวขวานหลายชนิด นกเขา นกเปล้า นกพญาไฟ นกเขาเขียว นกแก้ว นกเขาคราม นกกางเขนป่า นกแซงแซว นกปรอด ส่วนสัตว์ป่าประเภท สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย เต่าเขา เต่าเหลือง เหี้ย ตะกวด ตุ๊กแก จิ้งเหลน กิ้งก่าชนิดต่าง ๆ งูเหลือม งูหลาม งูเห่า งูเขียว งูสามเหลี่ยม งูจงอาง งูสิง ส่วนสัตว์ประเภทสะเทินน้ำสะเทินบกประกอบด้วยจำพวกกบต่าง ๆ เขียดต่าง ๆ อึ่งอ่าง คางคก ฯลฯ สัตว์จำพวกปลาประกอบด้วย ปลาซึก ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลากั้ง ปลาดุก ทั้งประเภทปลาที่มีเกล็ดและปลาไม่มีเกล็ด ปัจจุบันนี้เนื่องจากสภาพป่าถูกทำลายไปมาก แหล่งน้ำแหล่งอาหารลดน้อยลง ที่อยู่อาศัยและแหล่งหลบภัยตามธรรมชาติถูกรบกวน ประกอบกับภายในพื้นที่ยังมีชาวเขาหลายเผ่าอาศัยอยู่ยังไม่สามารถดำเนินการอพยพออกไปได้ สัตว์ป่าต่าง ๆ จึงมีจำนวนลดลง และพยายามหลบซ่อนตัวทำให้พบเห็นได้ยากมาก คงมีแต่สัตว์เล็ก ๆ และสัตว์ปีกจำพวกนกที่พอจะพบเห็นได้อยู่เสมอ

จุดเด่นที่น่าสนใจ

ดอยหลวงเชียงดาว เป็นยอดเขาที่สูงเป็นที่สามของประเทศ ตั้งอยู่ทางด้านทิศ ตะวันตกของตลาดเชียงดาว ห่างจากที่ว่าการอำเภอเชียงดาวประมาณ 5 กม. ยอดเขามีความโดดเด่น สูงสง่ากว่ายอดเขาลูกอื่น ๆ มีสีเขียวชะอุ่มตลอดปี สามารถมองเห็นได้เด่นชัดจากทาง รถยนต์ที่วิ่งผ่านตัวตลาดของอำเภอเชียงดาว

การเดินทาง

จากจังหวัดเชียงใหม่มีเส้นทางรถยนต์สู่ตัวอำเภอเชียงดาว ระยะทางประมาณ 72 กม. มีรถยนต์ประจำทางและรถยนต์รับจ้างสองแถวขนาดเล็กวิ่งตลอดเวลา และจากตัวตลาดอำเภอเชียงดาวมีเส้นทางรถยนต์ถึงที่ทำการเขต ฯ ระยะทางประมาณ 6 กม. และมีรถยนต์รับจ้างสองแถวขนาดเล็กวิ่งรับจ้างตลอดวันเช่นกัน

สิ่งอำนวยความสะดวก

สิ่งอำนวยความสะดวกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวจัดไว้บริการคือ พนักงาน เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานเขต ฯ และประจำตามหน่วยงานย่อยต่าง ๆ ของเขต ฯ ที่พร้อมจะ ต้อนรับ นอกจากจะต้องเดินทางไปตามเส้นทางที่พนักงานเจ้าหน้าที่ระบุไว้แล้วเพื่อความปลอดภัยทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพร้อมที่จะจัดเจ้าหน้าที่พนักงานพิทักษ์ป่าให้ความช่วยเหลือและนำทางตลอดเส้นทาง สำหรับที่พัก-ทางเขต ฯ จัดให้ได้ในจำนวนคนไม่มากนักซึ่งต้องขออนุญาตใช้จากอธิบดีกรมป่าไม้ และปฏิบัติตามระเบียบการใช้บ้านพักของกรมป่าไม้อย่างเคร่งครัด

การติดต่อ

ตู้ ป.ณ.12 อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 50170


©2002-2005 by TripandTrek
Contact :
webmaster@tripandtrek.com , MobilePhone : 0-6510-2074