:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง ::
:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง :: Traveller's WorldWide ::
   เรื่องเล่าคนเดินทาง
   เทคนิคแคมป์
   เรื่องเล่าติดแสตมป์
   นานา..น่าลอง
   ศิลปวัฒนธรรม
   เรื่องเล่าจากราวไพร  
   สมุดเยี่ยม
   มองผ่านเลนส์
   ทริปเดินทาง ปี 53  
   แนะนำตัว
สมัครสมาชิกรับข่าวสาร ฟรี!!





:: ศิลปวัฒนธรรม :: เพื่อส่งเสริมสำนึกรักศิลปวัฒนธรรมไทย ::

:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง :: Traveller's WorldWide ::











เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
จังหวัดเลย

ประวัติความเป็นมา

ภูหลวงมีความหมายว่าเขาที่สูงใหญ่หรือมีความหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ นับเป็นสิริมงคลนามที่บรรพบุรุษได้ตั้งชื่อไว้ เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลก และดินส่วนที่อ่อนถูกพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ คงเหลือหินซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนที่แข็งไว้เป็นภูเขา
ที่ดินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงถูกกำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ 18ธันวาคม พ.ศ. 2517 มีเนื้อที่ประมาณ 848 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 530,000 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และกิ่งอำเภอภูหลวง จังหวัดเลย และได้มีการกำหนดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2534 เนื่องจากมีการผนวกพื้นที่เพิ่มเติมและเพิกถอนพื้นที่บางส่วน มีเนื้อที่ประมาณ 897 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 560,593 ไร่

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงใหญ่แนวเขตเริ่มจากระดับความสูงมาตรฐานปานกลางระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร ถึงยอดสูงสุดของภูหลวง 1,571 เมตร เทือกเขาซีกตะวันออกมีลักษณะเป็นภูเขาลูกใหญ่มีที่ราบบนหลังเขาระดับความสูง 1,200-1,500 เมตร เนื้อที่ประมาณ 100 กม.เทือกเขาซีกตะวันตกเป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ตั้งชันสลับซับซ้อนเป็นลูกคลื่นระดับความสูง 600-800 เมตร

ลักษณะภูมิอากาศ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 20-24 องศาเซลเซียส
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม อุณหภูมิสูงกว่าฤดูร้อนเล็กน้อยหรือใกล้เคียงกัน
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกรกฎาคม อากาศหนาวจัดอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 8-16 องศาเซลเซียส โดยปกติแล้วในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมจะมีอุณหภูมิลดลงถึง 4-6 องศาเซลเซียส อยู่หลายวันและบางปีอุณหภูมิจะลดต่ำลงกว่าจุดเยือกแข็ง

ชนิดป่าและพรรณไม้

ป่าไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงแบ่งได้ดังนี้
1. ป่าดงดิบชื้น (Tropical Forest) เป็นป่าดงดิบที่อยู่ในระดับความสูง 400-800 เมตร พรรณไม้ส่วนใหญ่ไม่ผลัดใบ ชนิดไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ พะวา ชะม่วง มะไฟป่า ตังหน เลือดควาย แซะ แดงน้ำ มะหาด กาลพฤกษ์ สมุย ค้อ ส้าน บุนนาค ราชพฤกษ์ ชมพู่ป่า ตะโก คายโซ่ ลำใยป่า มะค่าโมง ประดู่ ตะเคียนหิน เป็นต้น
2. ป่าดงดิบเขา (Hill Evergreen Forest) เป็นป่าดงดิบที่อยู่ในระดับความสูงตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป ชนิดไม้ที่ขึ้นอยู่มี ยางควน สนทก่อแดง บุนนาค มะหาด สนแผง สนหางกระรอก ข่าต้นอบเชย ตะไคร่ต้น ก่วมแดง กระทุ่ม ซ้อ ทะโล้ ค่าขี้หมู เป็นต้น
3. ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduos Forest) พบป่าชนิดนี้ทางด้านตะวันออกท้องที่อำเภอ วังสะพุง และกิ่งอำเภอภูหลวง ไม้ที่ขึ้นอยู่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ประดู่ มะค่าโมง แดง ยาง กะบก ตีนนก ตะแบกใหญ่ เป็นต้น
4. ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) พบป่าชนิดนี้เป็นส่วนน้อยในท้องที่อำเภอวังสะพุง และอำเภอด่านซ้าย ไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง ประดู่ ตระคร้อ ติ้ว มะขามป้อม รัก ตีนนก กะโน แค เป็นต้น
5. ป่าสนเขา (Coniferous Forest) พบป่าชนิดนี้ในที่ราบบนหลังเขาเป็นกลุ่ม ๆ กระจายอยู่ทั่วไป สนที่ขึ้นอยู่ส่วนมากเป็นสนสามใบ (Pinus khasya) ส่วนสนสองใบ ( Pinus Merkusii ) พบขึ้นกระจายเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยไม่หนาแน่น
6. ป่าไม้พุ่ม (Bush Forest) พื้นที่ดินของป่าชนิดนี้มักจะตื้นมีหินผุดโผล่ขึ้นทั่วไป พบป่าชนิดนี้ในที่ราบบนสันเขา พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ กุหลาบขาว กุหลาบแดง ส้มแปะ ประทัดแดง เง่าน้ำทิพย์ สนสร้อย และก่อดำ เป็นต้น
7. ทุ่งหญ้า (Savannah) เป็นทุ่งหญ้าคา พบอยู่ในที่ราบบนหลังเขาทั่วไป

สัตว์ป่า

สัตว์ป่าสงวน มีเหลืออยู่ 1 ชนิด คือ เลียงผา
สัตว์ป่าคุ้มครอง มีช้าง กระทิง เสือโคร่ง เสือปลา กวางป่า หมีควาย อีเก้ง หมูป่า กระจง อีเห็นชนิดต่าง ๆ เม่นใหญ่ เม่นหางพวง หนูหริ่ง ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ป่า นกกางเขนน้ำ และนกอื่น ๆ ประมาณ 130 ชนิด เป็นต้น

จุดเด่นที่น่าสนใจ

1. อุณหภูมิของอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูหนาวอุณหภูมิจะลดลงใกล้ถึงจุดเยือกแข็งหรือต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเกือบทุกปี
2. เป็นแหล่งที่มีพืชพรรณไม้ในที่สูงที่อุดมสมบูรณ์มาก มีกล้วยไม้ป่ามากกว่า 160 ชนิด มีพืชพรรณ ไม้ที่หายากหรือมีที่ภูหลวงเพียงแห่งเดียวหรือพืชพรรณไม้ที่ไม่ค่อยจะพบเห็น
3. สวนหินธรรมชาติที่ประกอบด้วยพืชพรรณไม้ดอกกล้วยไม้และพืชชั้นต่ำ เช่นลานสุริยัน และป่าหินภูเขา
4. หน้าผาที่สูงชันและทิวทัศน์ที่สวยงาม เช่น ผาสมเด็จ ผาเยือง และผาโหล่นแต้
5. ทุ่งดอกไม้ป่าที่สมบูรณ์และสวยงาม เช่นทุ่งกุหลาบแดง ทุ่งกุหลาบขาว
6. รอยเท้าไดโนเสาร์ ที่มีอายุประมาณ 120 ล้านปี
7. น้ำตกที่ตกจากหน้าผาที่สูงประมาณ 60 เมตร เช่นน้ำตกตาดเลย

การเดินทาง

เส้นทางที่ 1 กรุงเทพฯ - จังหวัดสระบุรี - อำเภอสีคิ้ว - จังหวัดชัยภูมิ - อำเภอภูเขียว- อำเภอชุมแพ - อำเภอภูกระดึง - อำเภอสะพุง - จังหวัดเลย ระยะทางประมาณ 560 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 กรุงเทพฯ - จังหวัดสระบุรี - จังหวัดเพชรบูรณ์ - อำเภอหล่มสัก - อำเภอหล่มเก่า - อำเภอด่านซ้าย - อำเภอภูเรือ - จังหวัดเลย ระยะทางประมาณ 530 กิโลเมตร
การเดินทางจากจังหวัดเลยไปยังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงออกเดินทางจากตัวจังหวัดเลยไปตามเส้นทางสายจังหวัดเลย - อำเภอภูเรือ ระยะทาง 36 กิโลเมตร จะถึงบ้านสานตม แล้วแยกซ้ายที่บ้านสามตมไปอีก 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
สำหรับผู้ที่เดินทางโดยเส้นทางที่ 2 ถ้าไม่เข้าตัวจังหวัดเลย เมื่อเดินทางผ่านอำเภอภูเรือไปตามเส้นทางเข้าจังหวัดเลยได้ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร จะถึงบ้านสามตม แล้วแยกขวาที่บ้านสามตมไปเป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง

สิ่งอำนวยความสะดวก

1. บ้านพักเรือนไม้ 6 หลัง แต่ละหลังมีห้องนอน 2 ห้อง ห้องน้ำ 2 ห้อง มีน้ำประปาและไฟฟ้า (ไฟฟ้ามีเฉพาะเวลากลางคืนถึง 21.00 น. ไม่อนุญาตให้ประกอบอาหารที่บ้านพัก)
2. เครื่องนอนประกอบด้วย ที่นอน หมอนและผ้าห่มนวม บ้านพักหลังละ 8 ที่

หมายเหตุ

1. กรมป่าไม้ไม่ให้เข้าไปใช้สถานที่นอกจากจะเข้าไปทำการศึกษาค้นคว้าหรือวิจัยทางด้านวิชาการ
2. การใช้สถานที่ทางด้านโหล่นแต้ เขตอำเภอวังสะพุงซึ่งจังหวัดเลยดำเนินกิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวติดต่อที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย

การติดต่อ

โทร. 5614292-3 ต่อ 706,707


©2002-2005 by TripandTrek
Contact :
webmaster@tripandtrek.com , MobilePhone : 0-6510-2074