|
|
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
ประวัติความเป็นมา
แต่เดิมมาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวมีชื่อว่า ป่าสงวนเขาสอยดาว เนื่องมาจาก ภูเขาแห่งนี้มีความสูงมากคือ สูงถึง 1,675 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในเวลากลางคืนจะเห็นว่าดวงดาวอยู่ใกล้ยอดเขาจะหยิบหรือสอยถึงได้ ต่อมาป่าสงวนแห่งนี้ถูกราษฎรบุกรุกลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และลักลอบล่าสัตว์ป่ากันอยู่เสมอ ประกอบกับพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติไม่รัดกุมพอที่จะเอาผิดแก่ผู้ทำลายป่าและล่าสัตว์ป่าได้ จึงทำให้มีโอกาสลักลอบทำลายทรัพยากรกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กรมป่าไม้เห็นว่า ถ้าปล่อยไว้ให้เป็นป่าสงวนอยู่ตามเดิม นับวันป่าจะหมดไป สัตว์ป่าหลายชนิดที่มีอยู่ในป่าแห่งนี้ก็จะถูกล่าสูญพันธุ์ไปด้วย ทางกรมป่าไม้ (โดยฝ่ายจัดการสัตว์ป่าแห่งชาติ กองบำรุงเดิม) ได้เข้าไปดำเนินงานเพื่อจัดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อปี 2508 โดยได้ทำการสำรวจเบื้องต้นเพื่อให้ทราบถึงชนิด ปริมาณของสัตว์ป่า สภาพของแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ตลอดจนความเหมาะสมในการที่จะจัดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งผลจากการสำรวจปรากฎว่า เป็นแหล่งที่มีความเหมาะสมต่อการจัดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอย่างยิ่งและกรมป่าไม้ก็ได้ดำเนินการเพื่อออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่อไป
ต่อมาเมื่อปี 2514 ระหว่างการดำเนินงานเพื่อออกพระราชกฤษฎีกาประกาศเขาสอยดาวให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอยู่นั้น ทางราชการได้ออกสัมปทานป่าดังกล่าวให้แก่บริษัทศรีมหาราชาจำกัด ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนต่อคณะปฏิวัติ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2515 ซึ่งเป็นผลให้สภาบริหารของคณะปฏิวัติได้ลงมติให้เพิกถอนพื้นที่ป่าบริเวณเขาสอยดาวออกจากเขตป่าสัมปทาน จากนั้นจึงประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าเขาสอยดาวให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 200 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2515
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลทรายขาว ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน ตำบลตะเคียนทอง ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม และตำบลแก่งหางแมว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ 745 ตารางกิโลเมตร หรือ 465,363 ไร่
อาณาเขต ทิศเหนือ จรดอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรี
ทิศตะวันออก ขนานและจรดมาตามถนนจันทบุรี-สระแก้ว
ทิศใต้ จรดอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏด้านทิศเหนือ
ทิศตะวันตก จรดป่าสงวนแห่งชาติขุนแก่งหางแมว อำเภอท่าใหม่
และป่าสงวนแห่งชาติจันตาแป๊ะ อำเภอมะขาม
ชนิดป่าและพรรณไม้
ป่าเขาสอยดาว มี 2 ชนิด คือ
1. ป่าดงดิบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำห้วยลำธารหลายสาย มีไม้ที่สำคัญ เช่น ตะเคียนทอง มะค่าโมง ยาง สมพง กะบาก ประดู่ ฯลฯ
2. ป่าเต็งรัง หรือป่าโปร่ง เป็นแหล่งที่มีทุ่งหญ้าและมีพรรณไม้ซึ่งเป็นอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่าหลายชนิด ในป่าเหล่านี้มีไม้สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง พลวง แดง ฯลฯ
สัตว์ป่า
สัตว์ป่าที่สำคัญได้แก่ ช้างป่า กระทิง วัวแดง อีเก้ง กระจง เลียงผา เสือโคร่ง เสือดาว กวาง เสือดำ เสือไฟ แมวลายหินอ่อน เสือลายเมฆ หมี ลิง ค่าง ชะนี ไก่ป่า นกยูง นกแว่น นกกาฮัง และนกชนิดต่าง ๆ อีกมากมาย รวมทั้งไก่ฟ้าหลังขาวพันธุ์ย่อย Lophara nycthemera lewisis ซึ่งพบเฉพาะในเทือกเขาสอยดาวเพียงแห่งเดียว และเมื่อประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ. 2514 มีผู้พบนก 2 ชนิด คือ นกขมิ้นแดง ( Oriolus traillii ) และนกขมิ้นขาว ( Orilous mellainus ) ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งนกทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นนกที่หายาก โดยเฉพาะนกขมิ้นขาวยังไม่เคยพบในป่าแห่งใดมาก่อน สัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวนี้มีลักษณะที่พิเศษผิดแผกแตกต่างไปจากป่าแห่งอื่น ๆ ของประเทศไทยในแง่ของสัตว์ป่า คือ สัตว์ป่าหลายชนิดมีลักษณะคล้ายไปทางสัตว์ป่าในแถบเขมรและเวียตนาม ดังนั้น การสงวนป่าแห่งนี้ไว้จึงมีคุณค่าทางด้านสัตวศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง
แหล่งน้ำของสัตว์ป่า สัตว์ป่าอาศัยน้ำจากลำห้วย ลำคลอง หนองบึง ที่มีอยู่มากมายในป่าแห่งนี้ ลำคลองใหญ่ ๆ มี คลองตารอง คลองประตง คลองตาหริ่ง คลองทุ่งกว้าง คลองตาเรือง ฯลฯ
แหล่งอาหารของสัตว์ป่า มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตลอดเนื้อที่ของป่า ได้แก่
1. โป่งทุ่งตาเรือง ลักษณะของดินเป็นสีเทารสเค็มมันคล้ายดินสอพอง มีสัตว์พวกช้าง กระทิง กวาง เก้ง กระจง ลงกิน
2. โป่งบ้านทุ่งกร่าง ลักษณะของดินเป็นสีน้ำตาล มีสัตว์พวกกระทิง กวาว เก้ง กระจง ลงกิน
3. โป่งคลองตาเรือง จะมีสัตว์พวกกวาง เก้ง กระจง ฯลฯ ลงกิน
4. ใบไม้ ดอกไม้ มีอยู่ทั่วไปในป่าและจะออกดอก ออกลูกในฤดูแล้ง ได้แก่ ดอกมะค่าโมง
ลูกมะกอก ลูกนางเร่ว ระกำมีตามขุนห้วยสัน
จุดเด่นที่น่าสนใจ
ภูเขาและทิวทัศน์ ป่าเขาสอยดาวมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ประกอบ ด้วยภูเขาน้อยใหญ่จำนวนมากมาย อาทิเช่น ยอดเขาสอยดาว มี 2 ยอด คือ ยอดเขาสอยดาวใต้ สูงประมาณ 1,675 เมตร นอกจากนี้ยังมีเขา 15 ชั้น เขาน้ำเขียว และเขาทรายขาว ภูเขาเหล่านี้เป็นแหล่งกำเนิดของน้ำตกและห้วยน้ำลำธารหลายสาย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดทิวทัศน์ที่สวยงามอีกด้วย
ลำห้วย ลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำอันสำคัญที่ไหลหล่อเลี้ยงแม่น้ำ และแม่น้ำจันทบุรี ไม่ให้
เหือดแห้งในหน้าแล้ง ลำห้วยที่สำคัญได้แก่ คลองประตง คลองตารอง คลองทุ่งกร่าง คลองตาเรือง คลองกรวดใหญ่ คลองพระสะพึง คลองตาหริ่ง ฯลฯ เป็นต้น
น้ำตก ที่สำคัญได้แก่ น้ำตกเขาสอยดาว ซึ่งประกอบด้วยชั้นต่าง ๆ ถึง 16 ชั้น มีความสูงและความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นสถานที่พักผ่อนและเป็นแหล่งดึงดูดนักทัศนาจรไปเที่ยวน้ำตก แห่งนี้เป็นจำนวนปีละมาก ๆ นอกจากนี้ยังมีน้ำตกกระทิง น้ำตกทรายขาว ซึ่งมีความสวยงามและเหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวและการพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง
ป่าเขาสอยดาว นอกจากจะเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์แหล่งสุดท้ายของภาคตะวันออกของประเทศไทยที่ยังมีธรรมชาติดั้งเดิมเหลืออยู่แล้ว ยังเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกอีกด้วย
การเดินทาง
การเดินทางเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว โดยทางรถยนต์ได้ 2 ทาง คือ
1. จากจันทบุรีถึงหมู่บ้านประตง อำเภอโป่งน้ำร้อน ระยะทางประมาณ 70 กม.จากประตงเข้าที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวอีก 4 กม.
2. จากอำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี ถึงหมู่บ้านประตง อำเภอโป่งน้ำร้อน ระยะทางประมาณ 75 กม.
สิ่งอำนวยความสะดวก
ไม่มี
การติดต่อ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี 22140
|
|
|
|
|
|