:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง ::
:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง :: Traveller's WorldWide ::
   เรื่องเล่าคนเดินทาง
   เทคนิคแคมป์
   เรื่องเล่าติดแสตมป์
   นานา..น่าลอง
   ศิลปวัฒนธรรม
   เรื่องเล่าจากราวไพร  
   สมุดเยี่ยม
   มองผ่านเลนส์
   ทริปเดินทาง ปี 53  
   แนะนำตัว
สมัครสมาชิกรับข่าวสาร ฟรี!!





:: ศิลปวัฒนธรรม :: เพื่อส่งเสริมสำนึกรักศิลปวัฒนธรรมไทย ::

:: TRIP & TREK :: โลกกว้างของคนเดินทาง :: Traveller's WorldWide ::











อุทยานแห่งชาติ พุเตย


อุทยานแห่งชาติพุเตย ตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี มีเนื้อที่ 198,422 ไร่ จัดตั้งขึ้นเนื่องจากกรมป่าไม้เห็นว่า พื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์บางส่วนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าห้วยพลู ท้องที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารในการเกษตรของจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี มีทิวทัศน์สวยงาม สัตว์ป่าชุกชุม สมควรอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติ จึงแต่งตั้งให้นายพันเทพ อันตระกูล นักวิชาการกรมป่าไม้ ไปทำการสำรวจบุกเบิกเตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปี 2541 จึงได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 84 ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนที่ 67ก ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2541 โดยใช้ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี" มีอาณาเขต ทิศเหนือจดอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ทิศใต้จดห้วยตะเพิน ห้วยน้ำเขียว และอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตามโครงการพระราชดำริ ทิศตะวันออก จดห้วยซับปลากั้ง ห้วยชะลอม ห้วยขมิ้นและทิศตะวันตก จดเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยหินดำ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้างจังหวัดสุพรรณบุรีใกล้สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์สุพรรณบุรี และสถานีควบคุมไฟป่าอยู่ห่างจากอำเภอด่านช้าง ประมาณ 80 กิโลเมตร

จุดเด่นที่น่าสนใจ
1.ป่าสนสองใบ ธรรมชาติ มีประมาณกว่า 1,300 ต้น อยู่บนเทือกเขาพุเตย เป็นป่าแปลกมหัศจรรย์ เพราะป่าสนจะเจริญเติบโตในพื้นที่ภูเขาสูงชัน มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ขึ้นไป แต่ป่าสนแห่งนี้ เจริญเติบโตบนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 763 เมตร เท่านั้น สภาพป่าสมบูรณ์มาก จนได้รับเลือกให้เป็นศูนย์แม่พันธุ์ไม้สนสองใบในภาคกลาง บางต้นมีขนาดใหญ่วัดได้ถึง 2-3 คนโอบ ห่างจากที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 1 (พุเตย) ประมาณ 12 กิโลเมตร
2.ศาลเลาดาห์ อยู่บนเทือกเขาพุเตย เป็นอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเครื่องบินเลาดาห์ตก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 มีผู้เสียชีวิต 223 คน ห่างจากที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่1 (พุเตย) ประมาณ 7 กิโลเมตร
3.ถ้ำนาคี หมีน้อย ย้อยระย้า และผาใหญ่ ถ้ำแก้ว มีสภาพหินงอก หินย้อย เป็นเพชร อยู่ห่างจากที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 1 (พุเตย) ประมาณ 2 กิโลเมตร
4.น้ำตกพุกระทิง มี 9 ชั้น มีน้ำตกไหลแรง ระหว่างเดือน ตุลาคม - พฤศจิกายน อยู่ที่บ้านคลองเหล็กไหล วังโหรา ห่างจากที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 2 (พุกระทิง) ประมาณ 6 กิโลเมตร
5.น้ำตกตะเพินคี่ อยู่ที่บ้านกระเหรี่ยงตะเพินคี่
6.หมู่บ้านกระเหรี่ยงตะเพินคี่ เป็นหมู่บ้านปลอดอบายมุขและของมึนเมาทุกชนิด และในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 มีพิธีไหว้จุฬามณี ซึ่งเป็นเจดีย์ปูนเล็กๆ ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่รวมชาวเขาทุกสารทิศร่วมพิธี เป็นหมู่บ้านที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดปี
7.ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นสถานที่ศึกษาและเป็นค่ายฝึกอบรมด้านวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน วิทยาลัย แลมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ

สภาพภูมิประเทศ
สภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงติดต่อกันสลับซับซ้อน จุดสูงสุดที่ยอดเขาเทวดา ระดับความสูง 1,123 เมตร เป็นต้นน้ำลำธาร ซึ่งไหลลงอ่างเก็บน้ำลำตะเพิน ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีคลอง ลำห้วยต่างๆ เช่น ห้วยเหล็กไหล ห้วยวังน้ำเขียว ห้วยองค์พระ ห้วยท่าเดื่อ ห้วยขมิ้น ห้วยองคต ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักของชาวสุพรรณบุรี และเป็นต้นกำเนิดของเขื่อนกระเสียว มีสภาพเป็นป่าดิบชื้นเช่น ป่าสนสองใบ ป่าเต็งรัง ป่าเบจญพรรณ
สภาพอากาศ มีลมมรสุมพัดผ่านตลอดปี เกิดฤดูกาล 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม ฤดูหนาว ประมาณปลายเดือนตุลาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ และฤดูร้อน ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม
อุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไป ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส แต่ในฤดูหนาว จะมีอุณหภูมิประมาณ 10 - 15 องศสเซลเซียส และที่หมู่บ้านกระเหรี่ยงตะเพินคี่นั้น มีอุณหภูมิประมาณ 5-6 องศาเซลเซียส

สัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติพุเตยมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมายหลายชนิดด้วยกัน สัตว์ที่มีเป็นจำนวนมากในพื้นที่ ได้แก่ เลียงผา นกเงือก ชะนี ลิงลม และงูจงอาง

การเดินทาง
ใช้ยานพาหนะรถยนต์กระบะ หรือรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ จะสะดวกที่สุด โดยเดินทางจากจังหวัดสุพรรณบุรี ถึงอำเภอดอนเจดีย์ แล้วเดินทางไปตามเส้นทางหมายเลข 3264 ถึงแยกบ้านสระกระโจม เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมาย 333 ถึงอำเภอด่านช้าง หรือจากจังหวัดสุพรรณบุรี ไปตามเส้นทาง 321 ถึงอำเภออู่ทอง เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวง หลายเลข 333 ถึงอำเภอด่านช้าง
เนื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งจะอยู่ห่างไกลกัน นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ดังนี้
1.ป่าสนสองใบธรรมชาติ ถ้ำนาคี หมีน้อย ย้อยระย้า และผาใหญ่ ศาลเลาดาห์ อยู่ห่างจากอำเภอด่านช้าง ประมาณ 30 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข333 เดินทางจากอำเภอด่านช้างถึงบ้านวังคัน ประมาณ 15 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายที่สามแยกบ้านวังคัน ถึงบ้านป่าขี ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อตามเส้นทางหินลูกรังอีก 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 1(พุเตย) และสถานที่ท่องเที่ยว
2.น้ำตกพุกระทิง ห่างจากอำเภอด่านช้าง ประมาณ 50 กิโลเมตร เดินทางจากอำเภอด่านช้าง ไปตามเส้นทางหมายเลข 3086 ถึงสี่แยกบ้านปลักประดู่ เลี้ยวขวาเดินทางถึงบ้านหนองผักแว่น แล้วเลี้ยวขวาถึงที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 2 (พุกระทิง) แล้วเดินทางต่ออีก 6 กิโลเมตร ถึงน้ำตกพุกระทิง
3.น้ำตกตะเพินคี่ หมู่บ้านกระเหรี่ยง ห่างจากอำเภอด่านช้างประมาณ 120 กิโลเมตร และห่างจากที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 2 (พุกระทิง) ประมาณ 70 กิโลเมตร เดินทางไปบ้านวังยาว ไปบ้านกล้วยป่าผาก เลี้ยวซ้ายตามเส้นทางหิน ลูกรังไปบ้านตะเพินคี่ หมู่บ้านกระเหรี่ยง อยู่ติดเขตแนวกันชนมรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บริการ

อุทยานแห่งชาติพุเตย ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินค่าก่อสร้างบ้านพัก จึงไม่มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว ขอให้นักท่องเที่ยวเตรียมอุปกรณ์ในการพักแรมไปด้วย เช่น เต้นท์ ถึงนอน เปลสนาม ฯลฯ แต่หากนักท่องเที่ยวประสงค์จะค้างแรมในกรณีที่ไม่ได้เตรียมอุปกรณ์พักแรมไปด้วย ทางอุทยานฯ ได้ปรับปรุงบ้านพักราชการไว้เป็นห้องพักรับรองนักท่องเที่ยวชั่วคราว และมีเต้นท์ให้บริการ

สนใจติดต่อสำนักงานอุทยานแห่งชาติพุเตย ตู้ ปณ.19 อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี หรือติดต่อสอบถามได้ที่งานบริการบ้านพัก ฝ่ายนันทนาการและสื่อความหมาย ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 5797223 , 5795734 หรือ โทร.5614292-4 ต่อ 724 , 725



©2002-2005 by TripandTrek
Contact :
webmaster@tripandtrek.com , MobilePhone : 0-6510-2074