โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 กันยายน 2551 16:17 น.
แม้ว่าขณะนี้เรื่องของการเปิดสัมปทานให้เอกชนเช่าพื้นที่สร้างสิ่งปลูกสร้างภายในอุทยานแห่งชาติ จะถูกระงับไปชั่วคราว เพราะทานต่อกระแสคัดค้านของสังคมไม่ไหว แต่กระนั้นทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และกรมอุทยานก็ยังมีความพยายามที่จะเดินหน้าต่อด้วยการหาเหตุทำประชาพิจารณ์ ท่ามกลางความเคลือบแคลงว่าอาจเป็นการทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ชอบมาพากล
ทำให้ผู้ที่คัดค้านต่อเรื่องนี้ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ ด้วยเพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแนวคิดอุบาทว์ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายธรรมชาติเช่นนี้จะหวนกลับมาอีกเมื่อไหร่ ซึ่งก็คงต้องเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องคอยหมั่นสอดส่อง อย่าปล่อยให้บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นมรดกของทุกคนในชาติ
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยหยุดยั้งและป้องกันมิให้ภาครัฐ ภาคเอกชน เข้ามาสร้างสิ่งที่เรียกว่าความสะดวกสบายบนผืนป่าได้อีก คือ เราต้องร่วมมือช่วยกันหาทางออก ไม่ต้องรอให้วัวหายแล้วล้อมคอก แต่ล้อมคอกไว้กันไม่ให้วัวออกจะดีกว่า
แนวคิดหนึ่งที่มีหลายๆคนนำเสนอก็คือในเรื่องของอุทยานแห่งชาติต้นแบบหรืออุทยานแห่งชาติตัวอย่าง ซึ่งคัดสรรอุทยานแห่งชาติที่มีการบริหารจัดการที่ดีเยี่ยมมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการและพัฒนาอุทยานฯอื่นๆ
โดย วินิจ รังผึ้ง ได้นำเสนอแนวคิดนี้ ผ่านคอลัมน์ถนนคนเดินทาง หน้าท่องเที่ยว นสพ.ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 2 กันยายน 2551 สรุปความได้ว่า เรื่องการปรับมาตรฐานการบริการของอุทยานแห่งชาติก่อนที่จะยกไปให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานผูกขาดระยะยาว
ซึ่งทางกรมอุทยานฯน่าจะลองทำโครงการอุทยานแห่งชาติต้นแบบ หรืออุทยานแห่งชาติตัวอย่างขึ้นมา โดยอาจจะคัดเลือกอุทยานแห่งชาติยอดนิยมสัก 3 แห่งมาเป็นต้นแบบในการพัฒนา โดยเลือกอุทยานแห่งชาติในลักษณะต่างๆ เช่นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีกสักแห่งอาจจะเป็นอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันก็ได้
จากนั้นลองทุ่มเทสรรพกำลังของนักวิชาการอุทยานฯ รวมทั้งผู้บริหารของกรมฯ ออกแบบอุทยานแห่งชาติในฝันขึ้นมา แล้วทุ่มเทงบประมาณลงไปเพื่อให้มีมาตรฐานทั้งในเรื่องศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่พัก ค่ายพักเยาวชน ลานกางเต็นท์ ร้านอาหารมาตรฐานไม่ใช่ร้านขายเหล้าขายเบียร์อย่างที่เป็นอยู่ในบางอุทยานฯ
จัดระบบดูแลความปลอดภัยและมาตรการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวยามฉุกเฉิน รวมทั้งบริการกิจกรรมนำเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯที่ได้มาตรฐานและเป็นมืออาชีพ เช่นมัคคุเทศก์นำทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ นำทางดูนก ล่องแก่ง จักรยานเสือภูเขา
โดยมีบุคลากรที่สามารถสื่อสารและให้บริการได้ทั้งกับนักท่องเที่ยวคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ตลอดจนทำระบบการสื่อสารการสั่งจองบริการให้สะดวกสบายได้จากทั้งในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเหมือนเช่นอุทยานแห่งชาติระดับสากล
เมื่อพัฒนาอุทยานต้นแบบนำร่องได้มาตรฐานเช่นนี้แล้ว จะมีการปรับราคาค่าธรรมเนียม ค่าบริการให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้หรือเป็นรายได้นำไปปรับปรุงมาตรฐานบริการในส่วนอื่นๆของอุทยานฯ ก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธ
หากโครงการอุทยานแห่งชาติต้นแบบนำร่องนี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงอุทยานแห่งชาติอื่นๆให้มีมาตรฐานยิ่งๆขึ้นไปอีก ซึ่งก็น่าจะดีกว่าการเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานอุทยานฯยอดนิยมทีเดียว 10 แห่งโดยมีระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี ซึ่งหากมีความผิดพลาด มีความล้มเหลวเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ยากจะเยียวยาแก้ไข
สำหรับแนวคิดนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดนั้นยังมิอาจทราบได้ เพราะต้องมีฝ่ายรับสนองตอบต่อแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน และถ้าหากมองถึงเรื่องอุทยานต้นแบบแล้ว ก็ใช่ว่าอุทยานในบ้านเราจะไม่มี เพราะคนอุทยานส่วนหนึ่งต่างก็ล้วนใส่ใจพัฒนาอุทยานให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
พูนสถิตย์ วงสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน ซึ่งในปีนี้อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ได้รับการคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ได้รับรางวัลรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดเยี่ยม ประจำภาคเหนือ ได้กล่าวถึงเรื่องอุทยานนำร่องและการพัฒนาอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ว่า
สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่อุทยานดอยภูคาใส่ใจอยู่เป็นนิจ คือ เรื่องของการรักษาธรรมชาติดั้งเดิมไว้ แม้ว่าจะมีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ เราก็จะพยายามให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เราใช้วัสดุที่เป็นของในท้องถิ่น ไม่นำสิ่งแปลกปลอมเข้าไป
เรื่องของสาธารณสุขเราใช้เกณฑ์ของกรมอนามัยเป็นหลัก ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะที่ดอยภูคามีพืชที่สามารถพบได้เพียงแห่งเดียวของโลกอยู่หลายชนิดด้วยกัน นักท่องเที่ยวจะได้ดูความหลากหลายทางชีวภาพ ดูดาว ล่องแก่งลำน้ำว้าตอนกลางที่ยาวที่สุดในประเทศไทย 80 กิโลเมตร