มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยผลสำรวจรถโดยสาร ป.1
ภาคเหนือ-อีสาน ยอดแย่มากกว่ายอดเยี่ยม
ภาคเหนือ-อีสาน ยอดแย่มากกว่ายอดเยี่ยม
มูลนิธิ เพื่อผู้บริโภคเปิดเผยผลการสำรวจรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดยอดเยี่ยม ยอดแย่ วอนผู้ให้บริการใส่ใจด้านความปลอดภัย ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจกให้ครบทุกคันและต้องให้ข้อมูลผู้โดยสารเรื่องสิทธิต่างๆในตั๋ว รถ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาและแถลงข่าว ความปลอดภัยและมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะช่วงเทศกาลสงกรานต์ เปิดเผยผลสำรวจ รถโดยสารประจำทางปรับอากาศระหว่างจังหวัด การสำรวจครั้งนี้เริ่มสำรวจ 5 ก.พ. 27 มี.ค. 2553
หลักเกณฑ์และผลการสำรวจ
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว สรุปผลการสำรวจคุณภาพการบริการและความปลอดภัยของรถโดยสารประจำทาง จากโครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ใน เส้นทางเดินรถ 3 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยกล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้เลือกสำรวจเฉพาะรถโดยสารประจำทางปรับอากาศในกลุ่มมาตรฐาน 1 (ข) และรถกลุ่มมาตรฐาน 4 (ข) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ารถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 (รถชั้นเดียวและรถสองชั้น) เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด เนื่องจากเป็นกลุ่มรถโดยสารที่มีผู้นิยมใช้บริการจำนวนมาก และมีจำนวนที่ให้บริการรวมกันถึงกว่า 3,000 คัน และเป็นรถโดยสารประจำทางในเส้นทางที่ใช้เวลาในการเดินทางมากกว่า 4 ชั่วโมงขึ้นไป โดยให้อาสาสมัครขึ้นใช้บริการบนรถโดยสารประจำทางตลอดเส้นทางทุกบริษัทที่ให้ บริการรถโดยสารภายใต้เงื่อนไขตามข้อ 1-3 บริษัทละ 2 เที่ยว โดยเลือกสุ่มสำรวจในเส้นทางจังหวัดปลายทางที่มีจำนวนประชากรมากเป็นสำคัญ
เงื่อนไข การให้คะแนนการให้บริการของผู้ประกอบรถโดยสารประจำทางมีอยู่ 3 อย่างครับนั่นก็คือด้านความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ต้องมีเข็มขัดนิรภัย ถังดับเพลิงหรือตลอดจนค้อนทุบกระจก คนขับรถได้พักทุก 4 ชั่วโมงหรือมีการเปลี่ยนคนขับหรือไม่ ด้านการให้ข้อมูลข่าวสาร ก่อนจ่ายเงินซื้อตั๋ว ผู้โดยสารได้รับการแจ้งราคาค่าโดยสารก่อน ใช่หรือไม่ ตั๋วโดยสารระบุราคาค่าโดยสารไหม รวมถึงผู้โดยสารได้รับการแจ้งถึงความคุ้มครองจากการประกันภัยรถโดยสารบ้าง หรือเปล่า และด้านความสะดวกสบายนั่นก็คือผู้โดยสารได้รับการจัดบริการที่นั่งตามที่ ระบุในตั๋วไหม อาหาร เครื่องดื่ม ที่ได้รับบริการมีความสะอาด ปลอดภัยแค่ไหน ห้องสุขาบนรถโดยสารมีน้ำและกระดาษชำระเพื่อเช็ด ล้าง ทำความสะอาดหรือเปล่า ไม่ใช่ทนกลิ่นกันไปถึงที่หมาย
จากหลักเกณฑ์การสำรวจพบว่า 5 อันดับยอดเยี่ยม-ยอดแย่ ภาคเหนือ ซึ่ง สำรวจทั้งหมด 19 บริษัท ในภาพรวมคุณภาพบริการด้านความปลอดภัย ด้านการให้ข้อมูล และด้านความสะดวกสบาย
5 อันดับยอดเยี่ยม คือ
1.บริษัทขนส่ง
2.บริษัทชาญทัวร์
3.บริษัทคฤหาสน์ทัวร์
4.บริษัทวิริยะทัวร์-แพร่ทัวร์
5.บริษัทวิริยะทัวร์
และ 5 อันดับยอดแย่คือ
1.บริษัทแอมบาสเดอร์ 2.บริษัทศรีทะวงศ์ทัวร์ 3.บริษัททันจิตทัวร์ 4.บริษัทพิษณุโลกยานยนต์ 5.บริษัทอินทราทัวร์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำรวจทั้งหมด 27 บริษัท
5 อันดับยอดเยี่ยมคือ
1 .บริษัทรุ่งประเสริฐทัวร์ 2.บริษัทขอนแก่นทัวร์ 3.บริษัทแอร์อุดร 4.บริษัทประหยัดทัวร์ 5.บริษัทอีสานทัวร์
5 อันดับยอดแย่คือ
1.บริษัทบุษราคัมทัวร์ 2. บริษัท407 พัฒนา 3.บริษัทชุมแพร์ทัวร์ 4.บริษัทยโสธรทัวร์ 5.บริษัทพิบูลทัวร์
ภาคใต้ สำรวจ ทั้งหมด 17 บริษัท
5 อันดับยอดเยี่ยมคือ
1.บริษัทปิยะรุ่งเรืองทัวร์ 2.บริษัทสมบัติทัวร์ 3. บริษัทนครศรีราชาทัวร์ 4.บริษัทกรุงสยามทัวร์ 5.บริษัทขนส่ง
5 อันดับยอดแย่คือ
1.บริษัททรัพย์ไพศาลทัวร์ 2. บริษัทสุวรรณนทีทัวร์ 3.บริษัทสยามเดินรถ 4. บริษัทนครศรีร่มเย็นทัวร์ 5. บริษัทภูเก็ตเซ็นทรัลทัวร์
นายอิฐบูรณ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอแนะต่อผู้ให้บริการและหน่วยงานกำกับดูแลในด้านความปลอดภัย คือรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดทุกมาตรฐาน ควรสนับสนุนให้มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยให้กับผู้โดยสารทุกที่นั่ง และให้มีการแนะนำส่งเสริมให้กับผู้โดยสารใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้งตลอดการ เดินทาง, ทุก 4 ชั่วโมง ต้องมีการสับเปลี่ยนพนักงานขับรถหรือพนักงานขับรถต้องได้หยุดพักเป็นเวลาไม่ น้อยกว่า 30 นาที ก่อนขับรถต่อไป เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 103 ทวิ ผู้ขับรถที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทตามมาตรา 127 และควรกวดขันให้รถโดยสารได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ทุบกระจกพร้อมกระจกที่สามารถทุบได้แตกได้
ด้านการให้ข้อมูลข่าวสารและบริการแก่ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการควรมีการรับประกันเวลาออกเดินทางและถึงจุดหมาย โดยให้มีการจ่ายค่าชดเชยหากผิดสัญญาประกันเวลา เช่นเดียวกับที่ผู้โดยสารถูกผู้ประกอบการปรับหรือริบค่าโดยสารในกรณีที่ขอ เลื่อนการเดินทาง หรือมาไม่ทันเวลาออกรถ, ตั๋วโดยสารนอกจากจะมีหมายเลขโทรศัพท์เพื่อการร้องเรียนต่อบริษัทผู้ให้ บริการแล้ว ควรมีหมายเลขโทรศัพท์เพื่อการร้องเรียนต่อบริษัท ขนส่ง จำกัด และกรมการขนส่งทางบก เพิ่มเติมให้กับผู้โดยสารด้วยในฐานะหน่วยงานดูแลการเดินรถ, ตั๋วโดยสารควรมีการแจ้งถึงความคุ้มครองของประกันภัย ชื่อของบริษัทประกันภัยที่ผู้ประกอบการรถโดยสารจัดให้ผู้โดยสารด้วย พร้อมทั้งเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกับบริษัทประกันภัยและควรมีระบบให้ข้อมูลหรือ พนักงานบริการประจำรถเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อของผู้ขับรถ ระยะเวลาการเดินทาง จุดที่จะมีการสับเปลี่ยนพนักงานขับรถ และข้อมูลที่จำเป็นอื่น ๆ ในการเดินทางของผู้โดยสาร เช่น ข้อห้ามการสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถโดยสาร
ทั้งนี้ จากรายงานประจำปี 2551 ของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) พบว่า รถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดยังคงเป็นพาหนะในการเดินทางที่สำคัญสำหรับ ประชาชนทั่วไป ในแต่ละปีมีผู้ใช้บริการมากถึง 11-12 ล้านคน โดยรถโดยสารประจำทางที่ให้บริการจะมี บขส.เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งจากคณะกรรมการควบ คุมการขนส่งทางบกกลางจำนวนกว่า 300 เส้นทางทั่วประเทศ และ บขส.เปิดให้รถเอกชนมาร่วมวิ่งในเส้นทางตามที่กำหนดภายใต้สัญญารถร่วม ปัจจุบันมีรถโดยสารประจำทางที่ให้บริการทั้งหมดประมาณ 8,500 คัน เป็นรถของบริษัทเอกชนร่วมบริการถึง 7,700 คัน และเป็นรถของ บขส.กว่า 800 คัน หรือเพียงร้อยละ 9-10 จากรถโดยสารประจำทางที่ให้บริการกับประชาชนทั้งหมด