เทศกาลศิลปแสดงสดนานาชาติ เอเชียโทเปีย ครั้งที่ 11
13-15 พฤศจิกายน 2552 ณ ห้องสตูดิโอ และส่วนต่างๆ ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
20-22 พฤศจิกายน 2552 ณ หอศิลปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พบกับประติมากรรมไร้รูป บทกวีไร้ภาษา 15 ผลงาน จากเยอรมัน ออสเตรีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อินเดีย พม่า และไทย
เมื่อพฤศจิกายน 2551 ศิลปินจากทุกทวีปทั่วโลกร่วม 90 คน เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับเทศกาลศิลปแสดงสด เอเชียโทเปีย ที่ศิลปินไทยเป็นผู้จัดขึ้นและยืนหยัดมาจนครบรอบ 10 ปี น่าเสียดายที่ศิลปินส่วนหนึ่ง ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนั้น ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ด้วยเหตุสนามบินนานาชาติของกรุงเทพฯ ถูกปิดชั่วคราว แม้ว่าจะผิดหวัง แต่หลายคนก็ยังมุ่งมั่นรอคอย ที่จะได้มาร่วม จนหนึ่งปีผ่านไป ศิลปินฮ่องกง เยอรมัน และออสเตรีย ก็ได้ยืนยันกับผู้จัดแล้วว่า จะมาร่วมในเทศกาลเอเชียโทเปีย ปีที่ 11 นี้
เทศกาลศิลปร่วมสมัยนานาชาติ สาขาแสดงสด ที่ชื่อเอเชียโทเปีย จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ.1998) โดยกลุ่มศิลปินคนไทยจำนวนไม่กี่คน และกำลังเงินสนับสนุนไม่มากนัก แต่พวกเขาก็ได้นำพาศิลปินนานาชาติ กว่า 300 คนนำวิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะสดๆ ต่อหน้าผู้ชม ซึ่งเป็นแนวการสร้างงานศิลปะที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนักศึกษาศิลปะรุ่นใหม่ ๆ ในยุโรปและอเมริกา อย่างมาก ขณะนี้
แม้ว่าในประเทศไทย ศิลปแนวแสดงสดนี้ จะยังไม่แพร่หลายนัก และยังไม่มีการเรียนการสอนในสถาบันศิลปะ ก็ตาม แต่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ (อาเซี่ยน) ก็เป็นดินแดนที่ศิลปแสดงสดกำลังผลิตดอกเบ่งบานอย่างทัดเทียมกับยุโรป จนมีการกล่าวขานกันว่า ทุกสายตากำลังจ้องมองมาที่เอเชีย เทศกาลเอเชียโทเปีย เป็นเทศกาลที่จัดมาอย่างต่อเนื่องยืนยาวที่สุดในภูมิภาคนี้ และเป็นประตูสู่เอเชียสำหรับศิลปินตะวันตก และประตูสู่โลกนานาชาติ ของศิลปินเอเชีย เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางศิลปะ ที่วารสารวงการศิลปนานาชาติจับตาดู
ปีนี้แฟนศิลปะแสดงสด ที่กรุงเทพและเชียงใหม่ จะได้พบกับ ประติมากรรมไร้รูป บทกวีไร้ภาษา 15 ผลงาน จากเยอรมัน ออสเตรีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อินเดีย พม่า และไทย
มัตติอัส แจ๊กกิสตช์ (Mathias Jackisch) ประติมากรเสียง ที่สร้างผลงานมายาวนานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ นครเดรสเด็น อยู่ในเขตเยอรมันตะวันออก ถือเป็นศิลปินอาวองการ์ด คนสำคัญคนหนึ่งของ เดรสเด็น
อีวา เออร์สปรัง (Eva Ursprung) ศิลปินหญิงแห่งเมือง Graz ที่หลงไหลเสน่ห์ไทยแลนด์ เคยจัดเชิญศิลปินไทย 8 คน ไปแสดงผลงาน ณ กรุงGraz และ เวียนนา เมื่อหลายปีมาแล้ว เธอมาพร้อมด้วย ดอรีส จ๊อกฮีนส์ (Doris Jauk-Hinz)
ยู่จี มารุ (Yuenjie Maru) ศิลปินหนุ่มฮ่องกง ที่มีผลงานแสดงมากกว่าสิบครั้งต่อปี ทั้งในฮ่องกง แผ่นดินใหญ่ และนานาประเทศ เขาคือศิลปินแสดงสดรุ่นที่สองของฮ่องกงอย่างแท้จริง
วาร์ช่า แนร์ (Varsha Nair) ศิลปินชาวอินเดีย ที่พำนักอยู่ในประเทศไทย แต่ไปโด่งดังในยุโรป วาร์ช่า เป็นหนึ่งในสมาชิกที่ขยันขันแข็งของ เทศกาลแลกเปลี่ยนศิลปินหญิง วูแมนิเฟสโต-Womanifesto ที่ย้ายฐานจากกรุงเทพไปศีรษะเกศ
ไค แลม (Kai Lam) จากสิงคโปร์ ผู้พยายามทำศิลปะให้เป็นสิ่งธรรมดาสามัญ เป็นกิจวัตรประจำวัน ที่ถูกย้ายพื้นที่เข้าไปสู่อาณาเขตุของวาทะกรรมศิลปะ เขาคือสมาชิกคนสำคัญรุ่นแรก ๆของ หมู่บ้านศิลปิน ในสิงคโปร์ และเจรามี ไฮอะ (Jeremy Hiah) เจ้าของโครงการ Your Mother gallery
สำหรับศิลปินไทย นำโดย จุมพล อภิสุข เช่นเคย และพร้อมด้วย พดุงศักดิ์ คชสำโรง นพวรรณ สิริเวชกุล วิชุกร ตั้งไพบูลย์ จักรกริช ฉิมนอก มงคล เปลี่ยนบางช้าง และ วรรณชาติ ลิขิตมานนท์ นอกจากนี้ยังมี เมลาตี ซูร์ดายาโม จากอินโดนีเซีย และ ซอนซา พยู จากพม่า
เทศกาลเอเชียโทเปียครั้งที่ 11/2552 จัดขึ้นที่หอศิลปแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน ตั้งแต่วันที่ 13-15 พฤศจิกายน นี้ และที่หอศิลปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 20-22 พฤศจิกายน
ขอรายละเอียดได้ที่ จุมพล 081-499-3671 (กรุงเทพ) และ อ.พดุงศักด์ 089-755-8321 (เชียงใหม่)
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน หัวมุม ถ.พระราม 1 และ ถ.พญาไท ตรงข้ามห้างมาบุญครอง และ สยามดิสคัฟเวอรี่ มีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ
เวลาเปิดบริการ อังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์)
ติดต่อ - เลขที่ 939 ถ.พระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน 10330
โทร.02 2146630-8 โทรสาร 02 2146639 เว็บไซต์ www.bacc.or.th