พบ สายเดี่ยวโบราณอายุ 200 ปี กรุไทยพวน คาดต้นแบบแฟชั่นยุคนี้
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 มกราคม 2556 17:31 น.
สายเดี่ยวโบราณอายุ 200 ปี! กรุ ไทยพวน จ.นครนายก คาด มาจากเมืองเวียงจันทน์ ทอจากฝ้ายสับปะรด ตกทอดมาในตระกูล จันทร์เพ็ง ส่งต่อให้ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง นำแสดงในพิพิธภัณฑ์ให้ ปชช.ได้ศึกษา เชื่อเป็นต้นแบบแฟชั่นวัยรุ่นยุคนี้
พระครูวิริยานุโยค เจ้าอาวาสวัดฝั่งคลอง ประธานกรรมการบริหารศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง กล่าวว่า วธ.ได้พิจารณาคัดเลือกให้วัดฝั่งคลอง เป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ซึ่งภายในศูนย์มีกิจกรรม ได้แก่ 1.นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจัดแสดงความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนครนายก 2.นิทรรศการภูมิปัญญา 3.นิทรรศการวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ชุมชน 4.การสาธิตองค์ความรู้เกี่ยวกับงานมรดกภูมิปัญญา อาทิ งานทอผ้า อาหาร สิ่งประดิษฐ์ เป็นต้น 5.กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากปราชญ์ชาวบ้าน 6.ลานวัฒนธรรม 7.จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาองค์ความรู้ 8.จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน และ 9.จัดให้มีอินเทอร์เน็ตชุมชน เพื่อสืบค้นข้อมูลภูมิปัญญา
สถานที่แห่งนี้ได้รวบรวมวิถีชีวิตชาวไทยพวน ที่สำคัญ ได้รวบรวมพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดนครนายก ที่สำคัญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมเหล่านักเรียนนายร้อย มาศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ยังพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย จึงนับได้ว่า เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของประวัติศาสตร์ชาวไทยพวนพระครูวิริยานุโยค กล่าว
พระครูวิริยานุโยค กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์ไทยพวนยังได้รวบรวมภูมิปัญญาและวิถีชีวิต ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ การสร้างบ้านเรือน เครื่องแต่งกายไทยพวน สำหรับสิ่งของที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดในพิพิธภัณฑ์ คือ เสื้อสายเดี่ยวอายุประมาณ 200 ปี ซึ่งหาชมที่ไหนไม่ได้แล้ว เราก็ได้เก็บรวบรวมไว้ที่นี่ นับเป็นเรื่องที่แปลกที่เสื้อสายเดี่ยวของชาวไทยพวนเมื่อ 200 ปีที่เหมือนกับเสื้อสายเดี่ยวของคนยุคนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเสื้อสายเดี่ยว 200 ปี หรือเสื้อมะกะแหล่ง ทางวัดได้ศึกษา พบว่า ทำด้วยวัสดุผ้าฝ้าย คอกลมกว้างไม่มีแขน มีทั้งชนิดเปิดไหล่ 1 ข้าง และแบบไม่เปิดไหล่ ใช้เป็นเสื้อชั้นใน หรือใส่อยู่บ้าน ซึ่งเสื้อมะกะแหล่ง หรือสายเดี่ยว 200 ปีนี้ ได้มาจากเมืองเวียงจันทน์ ทอจากผ้าฝ้ายสัปปะรด ผู้ที่ได้มา คือ พ่อปูเพ็ง ย่าอ่ำ จันทร์เพ็ง โดยตกทอดมาอยู่กับลูกคนที่ 6 คือ นางประทุม จันทร์เพ็ง เป็นคนพวนบ้านคลองคล้า ครอบครัวนี้จึงได้ถวายให้พระครูวิริยานุโยค เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ไทยพวน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป