14 เมษายน 2551
ความขี้เซา ไม่มีเลยครับ มาต่างที่แบบนี้ ผมอยากใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด ออกไปถ่ายรูปดีกว่า เริ่มจากด้านหน้าหาดก่อน ทรายค่อนข้างละเอียดดีมากครับ
เกือบ 7 โมงเช้า ยังเห็นพระอาทิตย์ขึ้นอยู่ หลายคนตื่นแล้ว บ้างก็เดินเล่น มองเห็นชาวเลตระเตรียมความพร้อมของเรือหางยาวคู่ชีพ
มีหอเตือนภัยสูงตระหง่าน(เห็นคนขึ้นไปถ่ายรูปด้วยครับ) มีโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง ภายในมองเห็นสนามบาส(คราวหน้า ผมเอาลูกบาสมาเล่นดีกว่า คงจะดีไม่น้อย ได้เล่นริมทะเล)
มีสิ่งปฎิกูลเช่น ขยะ อยู่พอสมควร มีสุนัข 2 ตัว หยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน
ผมเจอพี่ฉู๋ 1 ใน ไกด์นำเที่ยว ที่ถ่ายรูปให้ผมเมื่อคืนนี้ เขาพักอยู่ที่เอเชีย รีสอร์ทเหมือนกัน
เดินออกไปถ่ายรูปที่หาดพัทยาดีกว่า และแล้ว ผมก็หลงทางอีกจนได้ หลงเข้าไปในหมู่บ้านของชาวเกาะหลีเป๊ะอีกครั้ง
ก๊าบๆๆๆ เสียงเป็ดของชาวบ้าน ผมเดินไปเรื่อยๆ เห็นคุณลุงกับคุณป้า ขยันทำงานแต่เช้าเลย พวกเขากำลังเลื่อยไม้กันอยู่ครับ
ที่เกาะมีสัญญาณ AIS กับ DTAC แต่ค่ายแรกจะสัญญาณดีกว่าครับ(ผมลงทุนซื้อซิมแบบเติมเงินของค่ายแรกมาเพื่อไว้ใช้เวลาออกทะเลโดยเฉพาะ ไว้ติดต่อกับทางบ้านน่ะครับ)
เส้นทางนี้ จะเป็นด้านหลังของรีสอร์ทสลับกับหมู่บ้านของชาวประมง ซึ่งผสมผสานกันอย่างลงตัว(ไม่บ่อยนะครับ ที่เราจะเห็นเกาะที่มีรีสอร์ทกับชาวบ้านอยู่ใกล้ๆกันแบบนี้)
นอกจากเป็ด ก็ยังมีไก่ครับ เจ้าไก่ 2 ตัว ที่อยู่ใกล้ๆผม เหมือนไก่สต๊าฟมาก(น่าจะจับไปทำไก่ย่าง555)
มีพระสงฆ์มาบิณฑบาตด้วยครับ ว่าแต่ ที่เกาะมีวัดตรงไหนเนี่ย ผมยังไม่เห็นเลย(แต่คงมีแหละครับ)
ทะลุมาถึงหาดพัทยาแล้ว ทรายละเอียด หาดกว้าง ยาวกว่าหาดชาวเลที่ผมอยู่ครับ หลายคนก็ตื่นเช้าเหมือนกันนะเนี่ย(หลายคน เตรียมตัวออกมาไปดำน้ำตื้น กิจกรรมยอดฮิตของที่นี่ครับ)
หิวซะแล้ว ผมมาเจอร้านอาหารไทย สไตล์ชาวบ้าน ชื่อว่าร้าน คนเล เลยสั่งกระเพรากุ้ง ไข่เจียว ราดข้าว อร่อยและราคาไม่แพงด้วยครับ(ที่ร้านมีเมนูภาษาอังกฤษด้วย คงเพื่ออำนวยความสะดวกชาวต่างชาตินั่นเอง)
ผมคิดว่า คืนนี้จะไปนอนที่เกาะอาดัง เพราะฉะนั้น จึงแวะร้านขายของชำ ซื้อของไปตุนดีกว่า เริ่มจากนม ขนมและมาม่า คุณลุงเจ้าของร้านกำลังคิดเงินให้ผมอยู่
ไอ้หนุ่ม มีเหรียญให้ลุงไหม ลุงอยากได้เหรียญน่ะ
มีครับลุง ผมมีเหรียญที่บ้าน หยอดไว้ ยังไม่ได้นับเลย ราวๆ สามพันบาทน่าจะได้ แต่อยู่ที่กรุงเทพนะลุง
โห ไกลจัง คุณลุงยิ้มแย้ม
ยังมีเวลาเหลืออยู่ พบพับเต๊นส์เก็บให้เรียบร้อย ยัดใส่ย่ามที่คุณแม่ให้มา ได้ง่ายมากๆ เพราะย่ามใหญ่กว่าถุงใส่เต๊นส์ที่แถมมาด้วย ม้วนใหญ่ๆก็ยังยัดลงไปได้ครับ(แต่อย่าใหญ่มากล่ะ555)
รอบๆ ผม เต๊นส์หายไปหมดแล้วครับ เมื่อคืนผมได้ยินว่า กลุ่มนี้เขาจะไปนอนกันที่เกาะอาดังนะ
หลังจากเอาของไปฝากที่หน้า Front แล้ว ผมไปที่ Dive Shop โดยมีพี่ยิ กำลังเตรียมอุปกรณ์ให้ผมอยู่ แกถามขนาด Fin และ BCD ของผม พร้อมให้เซ็นใบ The PADI Scuba Diver Statement
ผมประกอบอุปกรณ์ เช็คอากาศ ลองหายใจผ่านเรคกูเลเตอร์ เสร็จก็เอาแท๊งค์วางนอนลงกับพื้น
หลังที่คุยกับพี่ยิ จึงทราบว่า แกเป็น Instructor คนไทย(คนเดียวบนเกาะ) พี่ยิเคยทำงานอยู่บริษัทไดฟ์มาสเตอร์หลายปี เรื่องดำน้ำไม่ต้องห่วงครับ อยู่ในระดับเชี่ยวชาญมาก ขนาดแท๊งค์เสีย ยังมีคนเอามาให้แกซ่อมเลย(ซ่อมได้ เก่งมาก)
พี่ยิจะพาผมไปดู ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจและกุ้งตัวตลก ส่วนปลากบ แกบอกว่า แถวนี้หามาหลายปียังไม่เจอเหมือนกัน อีกอย่างสัตว์ใหญ่ต้องแล้วแต่ดวง(ผมตาโต ปลากบไม่เป็นไรหรอกพี่ ผมพึ่งเจอตัวแรกเมื่อปีใหม่ แต่สองอย่างแรกนี่ซิ ถ้าแกพาไปดูได้จริง คงดีไม่น้อยครับ ผมตามหามาหลายปีแล้ว แต่ก็นั่นแหละครับ ผมไม่คาดหวังดีกว่านะ ถ้าเจอก็ดี ไม่เจอก็ยังมีอย่างอื่นให้ผมดูอีกเพียบ 555 )
ชาวต่างชาติ 2 คน ที่เข้ามาใน Dive Shop คนแรกชื่อว่า ฮูลิโอ(Julio) กำลังเรียน Divemaster กับพี่ยิ อีกคนเป็นนักเรียน Open Water ชื่อว่า เซอจี(Sergi)หรือจะเรียกว่าเชนก็ได้
ส่วนอีก 1 สาว ที่มา Fun Dive เหมือนผม เธอชื่อว่า พาเมล่า(Camilla) ดูท่าเธอจะอายุน้อยกว่าผมแน่ๆ(ภาษาไทยเป็นชื่อที่พี่ยิเรียก ผมอยากให้เหมือนกับเหตุการณ์ตอนนั้นมากที่สุด ส่วนภาษาอังกฤษเป็นชื่อที่พวกเขาเขียนให้ผมครับ)
เราช่วยกันขนแท๊งค์และอุปกรณ์ดำน้ำ ขึ้นเรือหางยาว ฮูลิโอบริการดีมากครับ ล๊อคแท๊งค์ไว้คนละมุม เพื่อความสะดวกในการสวมใส่ตอนลง และดีเวลาออกเรือด้วยครับ
เมื่อสมาชิกครบ เราจึงออกเรือ ไม่นานนัก พาเมล่าอารมณ์ดีจริงๆครับ นอกจากจะร้องเพลงไทยที่ร้องว่า ดูดู๊ดู ดูเธอทำ ทำไมถึงทำกันฉันได้ เธอก็สวมบิกินีนอนอาบแดดอยู่ที่หัวเรือ(เอ่อ เธอใจกล้ามาก ฝรั่งเขาไม่ถือกันอยู่แล้วครับ เรื่องปกติ)
พี่ยิทบทวนสัญญาณใต้น้ำให้ผม เริ่มจาก โอเคหรือไม่โอเค , อากาศเหลือน้อย, อากาศหมด ,เช็คDept Gate ว่าอากาศเหลือเท่าไร , ตามผมมา เป็นต้น
แวะมาส่ง ฮูลิโอกับเชน ที่อ่าวเรือใบ(เป็นอ่าวแห่งหนึ่ง อยู่บนเกาะอาดัง) ที่นี่เป็นเสมือนสระว่ายน้ำ ที่ใช้สอนนักเรียน Open Water ซึ่งฮูลิโอจะช่วยพี่ยิสอนเชน(แบบนี้ ดีครับ เรียนในสระว่ายน้ำเป็นทะเลแบบนี้ ใกล้เคียงของจริงมากๆ) ส่วนผม พาเมล่าและพี่ยิ มุ่งหน้าไปสู่จุดดำน้ำแรก ที่ชื่อว่า เกาะอาดัง
Dive 1 ตะลึงกับผาปะการังอ่อน เสน่ห์แห่งอันดามันใต้!!!!
หนึ่ง สอง สาม ผมกับพาเมล่า ลงด้วยท่า Back Row พร้อมกัน พี่ยิให้สัญญาณ เราจึงลงสู่ผิวน้ำ
เคลียร์หู พอได้ครับ(เมื่อคืนก่อนนอน ผมทานแอคติเฟดเข้าไป) น้ำที่เกาะอาดัง ค่อนข้างใส ไม่มีตะกอนเลย
ในเม่นทะเล พี่ยิชี้ให้ผมดูสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง ลำตัวมีสีดำ ขนาดเล็กมาก(เท่าเหรียญบาท) เขาคือ กุ้งเม่นทะเลเล็ก(Sea urchin shrimp) ตัวเล็กมากจนผมอยากหาแว่นขยายมาดูจริงๆ
ด้วยขนาดที่เล็กแบบนี้ ผมเชื่อว่าหลายคนอาจมองข้ามไป คราวหน้าลองหาดูนะครับ ในเม่นทะเลที่หลายคนหวาดกลัว อาจเจอเขาอาศัยอยู่ก็ได้(ผมเคยหาครับ แต่ไม่เคยเจอซะที)
ในบรรดาปลาการ์ตูน ผมเจอ 3 ชนิดครับ เริ่มจากปลาการ์ตูนปานดำ(Red Saddleback Anemonefish) ปลาการ์ตูนลายปล้อง(Clark s Anemonefish) และปลาการ์ตูนส้มขาว(False Clown Anemonefish) ภายหลังที่ผมทราบว่า มีรุ่นพี่พบปลาการ์ตูนชนิด A.percula(Orange clownfish) ที่เกาะพีพี ทำให้เริ่มไม่แน่ใจในเจ้านีโมว่า เป็นชนิดไหนกันแน่ เพราะคล้ายกันมาก คงต้องดูลึกๆ จากภาพถ่ายชัดๆ แต่ถ้าดูจากจำนวนที่พบมาก ให้เป็นเจ้า False Clown Anemonefish ก่อนแล้วกันครับ
ปลาสิงโตที่นี่ จุดเด่นที่ทำให้แยกชนิดได้ง่าย คือ รัศมีวงกลมของก้านครีบที่ยื่นออกไปเหมือนวงเดือน นี่คือ ปลาสิงโตแคระม้าลาย(Zebra Dwarflionfish) ขนาดโตเต็มวัยนั่นเอง ครับ
เป็นครั้งแรกที่ผมเห็น หอยเขา Lamellaridae/Lamellarids(Coriocella Hibyae) ในเวลากลางวัน (ปกติผมมักเจอเวลาดำน้ำกลางคืน) ถือว่าเป็นสัตว์ทะเลที่รูปร่างแปลกตา หลายคนหากไม่คุ้น จะไม่ทราบครับ ว่าคืออะไร
ผมมองเห็นนูดี้ครับ ตัวเล็กมากอยู่บนก้อนหิน จึงเรียกให้พาเมล่ามาดู เป็น ทากปุ่มที่ชื่อว่า Phyllidia elegans เจ้าทากปุ่มนี้มีหลายชนิด หลายสีมากครับ เวลาแยกชนิดต้องดูให้ดีๆ
อ้าปากหวอ หน้าตาดูเหี้ยมเกรียม เป็นเอกลักษณ์ของ ปลาไหลมอเรย์ยักษ์(Giant moray eel) ลำตัวสีน้ำตาล เป็นปลาไหลมอเรย์ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดครับ
ผมเจอกระแสน้ำ 2 แบบ ในเวลาไล่เลี่ยกัน เริ่มจากกระแสน้ำเย็นที่สังเกตได้จากภาพมวลน้ำด้านหน้าที่เหมือนวุ้น พอมากระทบที่ใบหน้าเท่านั้นล่ะครับ ความเย็นมาเยือนทันที จากนั้นก็เป็นกระแสน้ำอุ่นที่อุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย(ไม่ใช่ว่ามีใครมาฉี่นะ 555)
ด้านหน้า ผมตกตะลึงกับหน้าผาที่มีแต่ปะการังอ่อน สีสวยมากครับ ผมมองดูพวกเขา แหงนหน้าขึ้นไปด้านบน กวาดสายตาไปรอบๆ มีสีน้ำเงินและสีชมพู เกิดมายังไม่เคยเห็นมากขนาดนี้มาก่อน สมแล้วที่อันดามันใต้เป็นถิ่นของปะการังอ่อน กล้าพูดได้ว่ามากที่สุดในประเทศไทยเลยครับ(พี่ยิบอกว่า ถ้าตอนกระแสน้ำแรงๆ จะดูสวยกว่านี้ครับ)
รูปร่างแบบนี้ ผมจำได้ครับ เป็นปลาปักเป้ากล่อง(Yellow box fish) ที่โตแล้ว ความน่ารักหายไปจากวัยเด็กเยอะ ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเหลือง แต่ยังไงก็ไม่รอดพ้นจากสายตาของผมไปได้ครับ
พี่ยิลงไป ดูสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งด้านในปะการังเล็กๆ เสร็จแล้ว แกหันมาหาผม เรียกให้ลงมาดู ผมมองตั้งนาน ไม่เห็นมีอะไรเลยพี่ ลองไปดูใหม่ ก็พบม้าน้ำซึ่งผมเดาว่าเป็นม้าน้ำหางลาย(Tiger-Tail Seahorse) ลำตัวมีสีเหลือง กำลังนอนหลับอยู่ พูดถึงภาพม้าน้ำสีเหลืองแถวอันดามันใต้ เคยลงในนิตยสารอยู่หลายฉบับ อยากเห็นตัวเป็นๆใต้น้ำมานานแล้วครับ
ด้านล่างมีปลาสินสมุทรจักรพรรดิ์(Emperor Angelfish) พี่ยิเล่าให้ฟังว่า แกดำน้ำแถวนี้บ่อย และสังเกตดูตั้งแต่เจ้านี้ยังเด็กจนกระทั่งโต ยังอยู่บริเวณเดิม ไม่ไปไหนเลยครับ
สำหรับเจ้าปลาเนื้อไก่ที่หลายๆคน กลัวว่าจะไปเจอในร้านหมูกะทะ แต่ที่ใต้ทะเลแห่งนี้ ผมเจอเหมือนกันครับ เจ้าปลาปักเป้าหนามทุเรียน(Black Blotched Porcupinefish) และปลาปักเป้าหน้าหมา (Blackspotted Puffer) นั่นเอง
ส่วนปลาผีเสื้อที่นี่ ผมพบปลาผีเสื้อลายทแยงครีบดำ(Indian Vagabond Butterflyfish)และ ปลาผีเสื้อคอขาว(Collared Butterflyfish) และยังมีปลาที่ไม่ใช่ปลาผีเสื้ออย่าง ปลาผีเสื้อเทวรูป(Moorish Idol)ด้วย
นอกนั้นมี ปลาแพะลาย(Blackstriped Goatfish)ปลาทรายขาวแถบโค้ง(Bridled Monocle Bream) ปลากะรังท้องกำปั่น(Blue-Lined Rockcod) ปลานกขุนทองเขียวพระอินทร์(Moon Wrasse) และฝูงปลาข้างเหลืองอีกมากมาย
เราแวะกลับมาที่อ่าวเรือใบอีกครั้ง มองเห็นเชนกำลังฝึกวิชากับฮูลิโออยู่(ไม่ใช่ดราก้อนบอลนะครับ 555) เราจอดเรือเพื่อแวะทานอาหารกลางวันที่นี่
อ่าวเรือใบ กว้างใหญ่ น้ำทะเลใสสีสวยสด อยากจะเดินไปถ่ายรูปจริงๆ แต่ทานข้าวกลางวันก่อนดีกว่านะ ลงไดฟ์ต่อไป ผมจะได้ไม่จุกมาก
อาหารกลางวันมี ผัดเปรี้ยวหวานทะเลกับข้าวเปล่า อร่อย อร่อย อร่อย(จริงๆ)
ผมถือกล้อง เดินออกไปย่อยอาหาร สำรวจหาดซะหน่อยดีกว่า
เจ้าดาวทะเลสีชมพู นอนนิ่งยู่บนหาด(ไม่น่าจะรอดแล้วครับ) มองออกไปเริ่มจากใกล้ๆ เห็นสันทรายและน้ำทะใสๆ ไกลออกไปเห็นน้ำทะเลสีเขียวอ่อนจนไปถึงน้ำเงินเข้ม ลมที่พัดมาถึงแม้ว่าแดดจะร้อน กลับทำให้ผมมีความสุขและสดชื่นจริงๆ
ช่วงเดินกลับ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุงสุด(รูปก็ไม่ถ่ายแล้ว) ผมเก็บขยะที่มีเยอะพอสมควรในหาดนี้ ช่วยกันคนละไม้คนละมือครับ ผมเชื่อว่าแม้ขยะจะถูกพัดมามากเพียงใด แต่ถ้าเราช่วยกันเก็บทุกครั้ง ก็จะช่วยให้หาดแห่งนี้ สวยงามมากขึ้น
ผมนำขยะมาใส่ในถุงพลาสติคโดยมีพี่ยิช่วยเหลือ ให้ใส่ถุงพลาสติคที่ใหญ่ขึ้น
เชนหยิบกล้องถ่ายรูปจากบนเรือมาถ่ายผม นอกจากคำชื่นชมที่เห็นผมเก็บขยะ เขาก็อยากให้ผมส่งรูปในกล้องให้เขาด้วย
พี่ยิเล่าให้ฟังว่า สอนหลักสูตร Divemaster ให้กับฮูลิโอฟรี แต่มีข้อแลกเปลี่ยนให้ฮูลิโอต้องมาช่วยดูแลลูกค้าของแก ซึ่งผมเห็นว่าเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่ดีมาก ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เนื่องจากการเรียนดำน้ำที่ต่างประเทศนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง ชาวต่างชาติหลายๆคน จึงข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนดำน้ำในเมืองไทย(ไม่แน่นะ หากในอนาคตผมเกิดอยากเรียนถึงระดับ Divemaster หรือสูงกว่านั้นขึ้นมา ผมอาจจะมาเรียนกับพี่ยิถึงที่นี่ก็ได้นะครับ)
แกเล่าให้ฟังอีกว่า เวลาหาของแล้วชี้ให้ Diver ที่เป็นชาวต่างชาติดู บางคนจะไม่ทราบว่าอะไรหายาก อะไรหาง่าย อย่างเจ้าปลิงทะเล(Sea Cucumber) หลายครั้ง ที่นักดำน้ำชาวต่างชาติ สะกิดให้พี่ยิดูด้วยความแปลกใจ ว่าคืออะไรน่ะ?
ผมเสริมว่า จริงครับพี่ อย่างเวลาดำกับเพื่อนๆ ชาวไทย หากสะกิดสัตว์ทะเลที่พบได้ทั่วๆไป อาจมีเสียงบ่นกันบ้างล่ะ(5555)
พักผ่อนใต้ร่มไม้ โดยมีทิวทัศน์ที่สุดสวยอยู่รอบๆ ซักพักเราเก็บของ ขึ้นเรือหางยาว เพื่อไปจุดดำน้ำต่อไปที่ชื่อว่า เกาะยาง