ฮีต สิบสอง
        ฮีตสิบสอง เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น ประเพณีทั้งสิบสองเดือนที่ชาวอีสานถือปฏิบัติกันมานั้น ล้วนเป็นประเพณีที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนได้ออกมาร่วมกิจกรรมพบปะสังสรรค์กันเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงและเพื่อความสมานสามัคคีมีความรักใคร่กันของคนในท้องถิ่นซึ่งเป็นการสืบทอดสิ่งที่ดีงามมาจวบจนปัจจุบัน
        ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำ คือ ฮีต และ สิบสอง
        ฮีต มาจากคำว่า จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี และ
        สิบสอง มาจากคำว่า สิบสองเดือน
        ดังนั้นคำว่า ฮีตสิบสอง หมายถึง ประเพณีที่ประชาชนในภาคอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี ประเพณีในแต่ละเดือนมีดังนี้
ฮีตที่ ๑
เดือนเจียง[เดือนอ้าย] : บุญเข้ากรรม
บุญเข้ากรรมเป็นกิจกรรมของสงฆ์ เรียกว่า เข้าปริวาสกรรม โดยให้พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอาบัติ [กระทำผิด] สังฆทิเสส ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์เพื่อเป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน แล้วปรับตัวประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระวินัย พิธีเข้าปริวาสกรรมกำหนดไว้ 9 ราตรี กำหนดให้พักอยู่ในสถานที่สงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน [อาจเป็นบริเวณวัดก็ได้] โดยมีกุฎิชั่วคราวเป็นหลังๆ พระภิกษุสงฆ์เข้าปริวาสกรรมคราวหนึ่งๆ จะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ต้องบอกดพระภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูปไว้ก่อนว่าตนเองจะเข้ากรรม และเมื่อถึงเวลาออกกรรมจะมีพระสงฆ์ 20 รูป มารับออกกรรม เรียกว่า สวดอัพภาณ แปลว่า รับกลับเข้าพวก พิธีทำบุญเข้ากรรมไม่ถือว่าเป็นการล้างบาป แต่เป็นการวารณาตนว่าจะไม่กระทำผิดอีก ส่วนกิจของชาวพุทธในบุญเข้ากรรมนี้คือการหาข้าวขงเครื่องอุปโภค บริโภคถวายพระ เชื่อว่าจะได้บุญมากกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไป
ฮีตที่ ๒
เดือนยี่ : บุญคูณลาน
        การทำบุญคูณลาน จะทำเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ในพิธีนี้จะมีการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระประพระพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ชาวบ้านลานข้าว ที่นาและตอข้าวบริเวรใกล้ลานข้าวถือว่าเป็นศิริมงคล ทำให้ข้าวในนาอุดมสมบูรณ์ เจ้าของนาจะอยู่เป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาลข้าวกล้าจะงอกงามและได้ผลดีในปีต่อไป เมื่อเสร็จพิธีทำบุญคูณลานข้าวแล้วชาวบ้านจึงจะขนข้าวใส่ยุ้งและเชิยขวัญข้าวคือแม่โพสพไปยังยุ้งข้าวและทำพิธีสู่ขวัญกับสู่ข้าวเล้า[ยุ้ง]ข้าวเพื่อเป็นสิริมงคลต่อ
ฮีตที่ ๓
เดือนสาม : บุญข้าวจี่
        เป็นการทำบุญในช่วงเทศกาลวันมาฆบูชา ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ตอนค่ำจะมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ ชาวบ้านจัดเตรียมข้าวจี่แล้วนำไปถวายพระภิกษุสามเณรที่วัด เมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการฝังเทศน์ฉลองข้าวจี่และรับพร มูลเหตุที่มีการทำบุญข้าวจี่ ซึ่งเป็นอาหารที่คนยากจนกินเป็นประจำ ไปถวายพระพุทธเจ้า พลางคิดว่า ขนมแป้งข้าวจี่เป็นเพียงขนมของทาสที่ต่ำต้อยพระพุทธองค์คงไม่ฉัน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้จิตใจของนาง จึงทรงฉันแป้งข้าวจี่ต่อหน้านาทำให้เกิดความปีติดีใจ ครั้นตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์ชาวอีสานจึงได้แบบอย่างในการทำแป้งข้าวจี่ ทำบุญข้าวจี่ ถวายพระมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน
ฮีตที่ ๔
เดือนสี่ : บุญพระเวส [บุญพระเวสสันดรหรือบุญมหาชาติ]
        คำนี้ออกเสียงว่า ผะเหวด เป็นสำเนียงของชาวอีสานที่มาจากคำว่า พระเวส ซึ่งหมายถึงพระเวสสันดร การทำบุญผะเหวด เป็นการทำบุญและฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก หรือเทศน์มหาชาติ ซึ่งมีจำนวน 13 กัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระเวสสันดร ผู้ซึ่งบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ด้วยการให้ทานหรือทานบารมีในชาติสุดท้ายก่อนที่จะมาเสวยชาติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า บุญพระเวสเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวอีสาน นิยมทำกันทุกหมู่บ้าน ด้วยความเชื่อว่าหากได้ฝังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์จบภายในวันเดียว อานิสสงส์จะดลบันดาลให้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งเป็นยุคแห่งความสุข ความสมบูรณ์ตามพุทธคติที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล
ฮีตที่ ๕
เดือนห้า : บุญสงกรานต์ [บุญสรงน้ำ]
        เป็นการทำบุญวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่โบราณ นิยมทำในเดือนห้าเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนถึงวันที่ 15 เมษายน คำว่า สงกรานต์ เป็นคำสันสกฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในที่นี้หมายถึง พระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักรราศรีหนึ่งเป็นเดือนที่เริ่มต้นปีใหม่ การทำบุญสงกรานต์จะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ นอกจากนี้ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรก่อพระเจดีย์ทรายและมีการละเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานนานตลอดทั้ง 3 วัน
ฮีตที่ ๖
เดือนหก : บุญบั้งไฟ
        บุญบั้งไฟเป็นงานสำคัญของชาวอีสานก่อนลงมือทำนา ด้วยความเชื่อว่าเป็นการขอฝนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข ในงานจะมีการแห่บั้งไฟ และจุดบั้งไฟเพราะเชื่อว่าเป็นการส่งสัญญาณขึ้นไปบอกพญาแถน ให้ส่งน้ำฝนลงมา ระหว่างที่มีการจุดบั้งไฟชาวบ้านจะมีการเซิ้งอย่างสนุกสนาน การทำบุญบั้งไฟนับเป็นการชุมนุมที่สำคัญของคนในท้องถิ่นที่มาร่วมงานบุญกันอย่างสนุกสนานเต็มที่ มีการนำสัญลักษณ์ทางเพศมาล้อเลียนในขบวนแห่บั้งไฟ โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องหยาบคาย การทำบุญบั้งไฟนี้บางทีจะตรงกับประเพณีบุญวันวิสาขบูชาด้วย
ฮีตที่ ๗
เดือนเจ็ด : บุญซำฮะ [บุญชำระ]
        เป็นการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีเป็นเสนียดจัญไรอันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง เป็นการปัดเป่าความชั่วร้ายให้ออกจากหมู่บ้าน ชาวบ้านจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อยเป็นการทำความสะอาดครั้งใหญ่ในรอบปี สิ่งที่ไม่ ดีทั้งหลายให้ขจัดออกไป เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในหมู่บ้าน มูลเหตุที่มีการทำบุญซำฮะ เนื่องมาจากสมัยพุทธกาลมีโรคห่า [อหิวาตกโรค] ระบาดมีผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมากที่เมืองไพศาลี พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จมาโปรดทำให้เกิดฝนห่าใหญ่มาชำระบ้านเมือง มีการสวดปัดรังควานและประพรมน้ำมนต์ตามหมู่บ้าน และแก่ชาวบ้านเพื่อเป็นสิริมงคลนอกจากทำบุญซำฮะแล้วยังมีการทำพิธีบูชาผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีเมือง ผีปู่ตา ผีตาแฮก [ผีประจำไร่นา] และเซ่นสรวงหลักเมืองเพื่อเป็นการระลึกถึงผู้มีพระคุณเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข
ฮีตที่ ๘
เดือนแปด : บุญเข้าพรรษา
        การเข้าพรรษเป็นกิจของภิกษุสามเณรที่จะต้องอยู่เป็นประจำในวัดใดวัดหนึ่งตลอด 3 เดือน กำหนดเอาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรไปพักแรมคืนที่อื่น การทำบุญเข้าพรรษาเป็นประเพณีทางศาสนาโดยตรง จึงคล้ายกับภาคอื่นๆ ในประเทศไทย ในพิธีจะมีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ สามเณร มีการฟังธรรมเทศนา ชาวบ้านจะหล่อเทียนขนาดใหญ่ถวายวัดเป็นพุทธบูชาและเก็บไว้ตลอดพรรษา การทำเทียนถวายวัดในช่วงเทศกาลเข้าพรรา มีความเชื่อแต่โบราณว่า หากใครทำเทียนไปถวายวัด เมื่อเกิดชาติใหม่ ผู้นั้นจะได้เสวยสุข หากมิได้ขึ้นสวรรค์แต่เกิดบนโลกมนุษย์ผู้นั้นจะมีความเฉลียวฉลาด มีสติปัญญาไหวพริบเป็นเลิศ ประดุจแสงเทียนอันสว่างไสว
ฮีตที่ ๙
เดือนเก้า : บุญข้าวประดับดิน
        เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจากันทำข้าวปลาอาหารคาวหวานพร้อมหมากพลูตั้งแต่เช้ามืดห่อใส่ใบตอง เรียกว่า ข้าวประดับดิน นำไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ในบริเวณวัด เพื่อให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นมากิน เพราะเชื่อว่าในช่วงเดือนเก้าผู้ที่ล่วงลับแล้วจะได้รับการปลดปล่อยให้ออกมาท่องเที่ยวได้ ในพิธีบุญข้าวประดับดิน ชาวบ้านจะวางข้าวประดับดินไว้พร้อมจุดเทียนบอกกล่าวให้มารับเอาอาหารและส่วนบุญนี้ จากนั้นชาวบ้านจะเอาอาหารไปทำบุญตักบาตรถวายทานแด่พระภิกษุสามเณร สมาทานศีล ฟังเทศน์และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ฮีตที่ ๑๐
เดือนสิบ : บุญข้าวสาก
        เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย โดยมีการทำสลากให้พระจับ เพื่อที่จะได้ถวายของตามสลากนั้น เป็นการทำบุญที่ต่อเนื่องจากพิธีในเดือนเก้าเพราะถือว่าเป็นการทำบุญส่งล่วงลับไปแล้วที่ได้ออกมาท่องเที่ยว ให้กลับสู่แดนของตน ในเดือนสิบนี้ชาวบ้านจะนำห่อข้าวสากไปวางไว้บริเวณวัดพร้อมจุดเทียนและบอกให้ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วมารับอาหารและผลบุญที่อุทิศให้
ฮีตที่ ๑๑
เดือนสิบเอ็ด : บุญออกพรรษา
        เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา จัดทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นการทำบุญที่สืบเนื่องมาจากบุญเข้าพรรษาในเดือนแปด ที่พระภิกษุสามเณรได้เข้าพรรษาเป็นเวลานานถึง 3 เดือน ดังนั้น ในวันที่ครบกำหนดพระภิกษุสามเณรเหล่านั้นจะมารวมกันทำพิธีออกวัสสาปวารณา วันนี้เป็นวันที่ภิกษุสามเณรมีโอกาสมาชุมนุมกันอย่างพร้อมเพรียงกันที่วัด ชาวบ้านถือว่าเป็นวันสำคัญและเป็นระยะที่ชาวบ้านหมดภาระในการทำนาไร่อากาศในช่วงนี้จะเย็นสบายจึงถือโอกาสมาร่วมกันทำบุญ มีการตักบาตรถวายภัตตาคารแด่พระภิกษุ สามเณร มีการกวนข้าวทิพย์ถวาย รับศีลสวดมนต์ฟังเทศน์และถวายผ้าจำนำพรรษา ตอนค่ำจะมีการจุดประทีปโคมไฟในบริเวณวัดและหน้าบ้าน บางท้องถิ่นอยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำจะมีการไหลเรือไฟ [ล่องเฮือไฟ] เพื่อเป็นการบูชาคารวะแม่คงคา บางแห่งมีการแข่งเรือยาวเพื่อความสนุกสนานและสามัคคีร่วมกันในงานอีกด้วย
ฮีตที่ ๑๒
เดือนสิบสอง : บุญกฐิน
        เป็นการถวายผ้าจีวรแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน งานบุญนี้มีระยะเวลาทำตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 มูลเหตุที่มีการทำบุญกฐินนั้น มีเรื่องเล่าว่า มีพระภิกษุจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ระหว่างการเดินทางนั้นยังเป็นช่วงหน้าฝนและระยะทางไกลจึงนำให้ผ้าจีวรของพระภิกษุเหล่านั้นเปียกน้ำเปรอะเปื้อนโคลนไม่สามารถหาผ้าผลัดเปลี่ยนได้ พระพุทธเจ้าได้เห็นถึงความยากลำบากนั้น จึงมีพุทธบัญญัติให้ภิกษุแสวงหาผ้าและรับผ้ากฐินได้เป็นเวลาหนึ่งเดือนหลังออกพรรษาชาวบ้านจึงได้จัดผ้าจีวรนำมาถวายพระภิกษุในช่วงเวลาดังกล่าว จนกลายเป็นประเพณีทำบุญกฐินมาจวบจนปัจจุบัน ก่อนการทำกฐินเจ้าภาพจะต้องจองวัดและกำหนดวันทอดกฐินล่วงหน้า เตรียมผ้าไตรจีวรพร้อมอัฐบริขารและเครื่องไทยทาน มีการบอกบุญแก่ญาติมิตร ตอนเช้าในพิธีจะแห่ขบวนกฐินเพื่อนำไปทอดที่วัดและแห่กฐินเวียนประทักษิณรอบอุโบสถ 3 รอบ จึงทำพิธีถวายผ้ากฐินจากปุยฝ้ายจนสามารถนำไปทอดให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาเริ่มทำเชื่อว่าจะได้บุญมากกว่าอย่างอื่น